3 แบงก์ ปล่อยกู้สร้างรถไฟฟ้า'ชมพู-เหลือง' วงเงิน 6.3 หมื่นล้านบาท
ธนาคารพาณิชย์ 3 รายใหญ่ ทำสัญญาเงินกู้ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู 'แคราย-มีนบุรี' และสีเหลือง 'ลาดพร้าว-สำโรง' วงเงินรวม 63,360 ล้านบาท
บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด และบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด โดยนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา นายภาคภูมิ ศรีชำนิ และนายพีระวัฒน์ พุ่มทอง กรรมการบริษัท ร่วมลงนามสัญญาเงินกู้ (Credit Facilities Agreement ) รวมมูลค่า 63,360 ล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง กับกลุ่มธนาคารผู้ให้สินเชื่อ ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารไทยพาณิชย์
สัญญาเงินกู้ แบ่งเป็น 2 ฉบับ สำหรับรถไฟฟ้าสายสีชมพู 'แคราย-มีนบุรี' วงเงิน 31,680 ล้านบาท ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร รวม 30 สถานี และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง 'ลาดพร้าว-สำโรง' วงเงิน 31,680 ล้านบาท ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร รวม 23 สถานี การลงนามครั้งนี้จะทำให้โครงการรถไฟฟ้าทั้ง 2 เส้นทาง สามารถดำเนินงานก่อสร้างได้ตามแผนจากการสนับสนุนด้านการเงินจากธนาคารพาณิชย์ชั้นนำ 3 รายใหญ่ ซึ่งบริษัทจะนำเงินไปใช้ก่อสร้างสถานี ทางวิ่งยกระดับ งานระบบเครื่องกล งานระบบอาณัติสัญญาณ ขบวนรถไฟฟ้าโมโนเรล รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่างๆ
นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล และบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล กล่าวว่า รถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (โมโนเรล) แบบยกระดับ 2 สายแรกของประเทศ และเป็นโครงการร่วมทุนในลักษณะ PPP Net Cost กับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยผู้ร่วมลงทุนประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด(มหาชน) บริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) ซึ่งผู้ถือหุ้นทั้ง 3 บริษัท จะนำความรู้ความชำนาญในสายงานที่มีร่วมดำเนินโครงการทั้ง 2 เส้นทางให้แล้วเสร็จตามกำหนด
ซึ่งผู้รับเหมาก่อสร้างงานโยธา ได้แก่ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง ผู้รับจ้างจัดหาระบบรถไฟฟ้ารวมถึงขบวนรถไฟฟ้าโมโนเรล คือ กลุ่มบริษัท บอมบาดิเอร์ จึงมั่นใจว่าจะลงมือก่อสร้างได้ทันทีหลังจากที่ รฟม. ส่งมอบพื้นที่ให้บริษัทฯ โดยมีกำหนดแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการในปี 2563
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ธนาคารเป็นผู้นำในการจัดหาเงินกู้สนับสนุนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย โดยมีวงเงินสินเชื่อระยะยาว (Term Loan) ในรูปแบบการปล่อยกู้ร่วม (Syndicate Loan) รวมทั้งสิ้น 63,360 ล้านบาท ในส่วนนี้ธนาคารกรุงเทพมีส่วนการปล่อยสินเชื่อ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 33 ของวงเงินกู้รวมในโครงการ หรือคิดเป็นวงเงินประมาณ 21,120 ล้านบาท ทยอยเบิกจ่ายตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2560
นายวศิน ไสยวรรณ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโสผู้บริหารสูงสุด Multi-Corporate Segment และผู้บริหารสูงสุด Corporate Segment ธนาคารไทยพาณิชย์เชื่อว่า รถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสีชมพู จะสามารถเชื่อมต่อการเดินทางเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าสายหลักอื่นๆ ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ช่วงหมอชิต-คูคต , รถไฟฟ้าสายสีม่วง เตาปูน-บางไผ่ , รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บางซื่อ-หัวลำโพง , รถไฟฟ้าสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต , รถไฟฟ้าสายสีส้ม ตลิ่งชัน-มีนบุรี และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ นอกจากนี้ โครงการดังกล่าว ยังช่วยขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาเมืองกระจายสู่พื้นที่รอบนอก ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ