สุทธิพงษ์ สุริยะ ฟูดสไตลิสต์ กับงานจิตอาสาโครงการหลวง
ชื่อของ ขาบ-สุทธิพงษ์ สุริยะ เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะฟูดสไตลิสต์ชื่อดังของประเทศไทย พร้อมทั้งเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท ขาบสไตล์ จำกัด แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ นอกเหนือจากงานประจำและธุรกิจที่ทำอยู่ ผู้ชายคนนี้ยังแบ่งเวลาไปทำงานจิตอาสาในมูลนิธิโครงการหลวงอีกด้วย
ย้อนกลับไปเมื่อ 11 ปีที่แล้ว สุทธิพงษ์เล่าให้ฟังว่า ขณะนั้นเป็นนักเขียนตำราอาหาร และมีความตั้งใจว่าจะทำหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า Green Food หรืออาหารที่ปรุงจากผักสีเขียว ซึ่งภาพที่ลอยมาชัดเจนที่สุด คือ มูลนิธิโครงการหลวง เพราะเป็นแหล่งวัตถุดิบชั้นเยี่ยม จึงติดต่อขอสัมภาษณ์คุณหญิงนาว- ม.ร.ว.ดัจฉราพิมล รัชนี ธิดาคนโตของม.จ.ภีศเดช รัชนี เพื่อขอข้อมูลของมูลนิธิโครงการหลวง รวมถึงข้อมูลผลผลิตที่จะออกมาในแต่ละช่วงฤดูกาล เพื่อทำออกมาเป็นสูตรเมนูต่างๆ ที่ปรุงจากพืชผักใบเขียวของโครงการหลวง
“ตอนนั้นเป็นครั้งแรกที่ได้พบกับคุณหญิงนาว ท่านก็ถามผมว่าทำอะไรมา ก็เล่าให้ท่านฟังว่า เป็นคนชอบนำเสนอเรื่องราวของอาหาร ชอบการทำอาหาร คุณหญิงนาวเลยเล่าให้ฟังว่า มูลนิธิโครงการหลวงมีกิจกรรมหนึ่งที่ทำเป็นประจำทุกปี คือ งานโครงการหลวง นอกจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของโครงการหลวงแล้ว อีกส่วนก็จะมีกิจกรรมสาธิตการปรุงอาหาร ตรงนี้เองที่ผมได้เข้ามาเป็นผู้สาธิตบนเวที โดยผมจะได้รับโจทย์มาเป็นวัตถุดิบ แล้วเอามาพัฒนาเป็นเมนูต่างๆ เพื่อสาธิตบนเวที พอทำมา 3-4 ปี ก็ได้รับเกียรติให้ทำงานที่ใหญ่ขึ้น จากผู้สาธิตอย่างเดียว ก็กลายเป็นหนึ่งในคณะอนุกรรมการฝ่ายสาธิตการประกอบอาหาร บทบาทหน้าที่ก็เพิ่มขึ้น คือเมื่อรู้แล้วว่าโจทย์ปีนี้จะส่งเสริมวัตถุดิบอะไร หน้าที่ผมก็จะเข้าไปช่วยประสานงาน ตั้งแต่การหาเชฟที่จะมาขึ้นเวทีสาธิต ประสานงานพิธีกร เมนูที่ทำในการสาธิตจะต้องเอามาทำเป็นตำราอาหาร เพื่อเป็นของที่ระลึกประจำปีด้วย ทั้งหมดที่เข้ามาทำงานนั้น ถือว่าเป็นจิตอาสาทั้งสิ้น”
นอกเหนือจากกิจกรรมดังกล่าว สุทธิพงษ์บอกว่า เขายังได้มีโอกาสเข้าไปช่วยงานโครงการหลวงตามดอยต่างๆ อีกหลายครั้ง โดยใช้ความเชี่ยวชาญของตนเองเข้าไปช่วยทำในเรื่องของการสร้างสรรค์วัตถุดิบ คิดทำเมนูต่างๆ โดยยกตัวอย่างโครงการอาหาร 6 ดอย ซึ่งแต่ละดอยนั้นจะมีวัตถุดิบที่เด่นๆ ต่างกันออกไป และแต่ละดอยก็จะมีเมนูเด่นของแต่ละสโมสรอยู่แล้ว ซึ่งในส่วนนี้ทางสุทธิพงษ์จะเข้าไปช่วยปรับเปลี่ยนหน้าตาของเมนูเดิมๆ ให้มีดีไซน์ที่สวยงามขึ้น
“เวลาผมไปในแต่ละดอยนะ เขาก็จะเรียกผมว่า ครู อาจารย์ คือผู้ที่ไปให้ความรู้เขา อย่างที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง แล้วก็จะมีเมนูหนึ่งที่เขาทำอยู่แล้ว คือ น้ำผักกวางตุ้งปั่น และเค้กผักกาดกวางตุ้ง คือฟังชื่อปุ๊บ รู้สึกว่ามันยังไม่ดึงดูด พอผมถ่ายรูปสวยๆ ให้เขาแล้ว ก็บอกว่า ชื่อน้ำผักกวางตุ้งปั่น ชื่อนี้ห้ามตั้งเลย เพราะฟังแล้วจะรู้สึกไม่อยากดื่ม ผมเลยเปลี่ยนชื่อให้ใหม่เป็น Healthy Delight ตอนมาออกงานโครงการหลวงครั้งล่าสุด เชื่อไหมว่าปั่นกันแทบไม่ทันเลย แค่เปลี่ยนชื่อเท่านั้นเอง
หรือเค้กผักกาดกวางตุ้ง บอกเลยว่าอร่อยมากจริงๆ แต่รู้สึกว่ายังไม่น่าสนใจ อันดับแรกคือ รูปทรง เขาทำเป็นก้อนสี่เหลี่ยมจัตุรัส เป็นทรงคอนโด ผมบอกว่า ขอเปลี่ยนได้ไหมให้เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า คืออย่าเทเนื้อเค้กให้สูง แต่เทเนื้อเค้กให้แบนเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า โดยที่ยังใช้ปริมาณเนื้อเค้กเท่าเดิม ต่อมาแทนที่จะเป็นเค้กผักกาดกวางตุ้ง ก็ให้เปลี่ยนเป็นเค้กกุหลาบใส่ผักกาดกวางตุ้ง เพราะที่ทุ่งเริงจะปลูกกุหลาบเยอะมาก โดยให้เอากลีบกุหลาบวางไว้ก้นของแม่พิมพ์ แล้วเอาเค้กผักกาดกวางตุ้งเทลงไป พออบเสร็จพลิกเค้กกลับขึ้นมาก็จะกลายเป็นว่ามีกุหลาบอยู่ด้านบน เท่านี้ยังไม่พอ ต้องมีการทำบัตเตอร์ครีมเอามาปาดหน้าเค้กด้วย ตอนเสิร์ฟก็เอากลีบกุหลาบสดโรยไป 3-4 กลีบ แค่นี้ก็สามารถสร้างมูลเพิ่มให้กับสินค้าได้แล้ว จริงๆ แล้วเขายังทำทุกอย่างเหมือนเดิม เพียงแต่ปรับเพิ่มดีไซน์เข้าไปเล็กน้อยเท่านั้นเอง”
นอกจากนี้ ฟูดสไตลิสต์ชื่อดัง ยังเล่าให้ฟังว่า เขากำลังเตรียมออกหนังสือเล่มใหม่ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากวัตถุดิบของแต่ละดอยในโครงการหลวง โดยจะเป็นการสร้างสรรค์เมนูขึ้นมาใหม่ โดยจะทำออกมาในรูปแบบของตำราอาหารชื่อว่า TEEN COOKING แบ่งเป็น 4 เล่ม 4 ดอยด้วยกัน คือ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง และสถานีเกษตรหลวงอินทนนท์
“หนังสือเล่มนี้ทำขึ้นมาเพื่อเป็นการสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชถึงตัวท่านจะไม่อยู่แล้ว แต่สิ่งที่ท่านได้ทิ้งไว้ คือ การเกษตรยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ เราเป็นคนรุ่นหลังสามารถที่จะนำแนวคิดไปสืบสานต่อเพื่อให้คงอยู่ตลอดกาล นอกจากนี้ เรายังจะนำเอาเมนูใหม่ๆ เหล่านี้ไปใส่ไว้ในเมนูร้านอาหารของแต่ละดอยด้วย เช่น ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก มีเห็ดเยอะมาก ก็ทำเมนูเห็ดชุบแป้งทอด โดยรับประทานกับน้ำผึ้ง หรือที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงทุ่งเริง ผมทำเมนูชื่อว่า ปอเปี๊ยะสดบอกรัก เพราะทำจากกุหลาบ เจ้าหน้าที่บอกว่าอยากให้หนังสือออกเร็วๆ จะได้เอาสูตรนี้มาขายในร้าน”
สำหรับสุทธิพงษ์แล้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ถือเป็นกษัตริย์ผู้ให้ที่ยิ่งใหญ่ พระองค์ทรงเปลี่ยนชีวิตคน จากผู้ยากไร้ให้อยู่ดีกินดีขึ้น ในฐานะที่เข้ามาทำงานจิตอาสาในมูลนิธิโครงการหลวง การได้ใช้วิชาชีพในการเป็นฟูดสไตลิสต์ ทำหน้าที่สร้างสรรค์สินค้า วัตถุดิบทางการเกษตรให้มีคุณค่าและมูลค่าเพิ่ม นั่นคือสิ่งที่เขาสามารถช่วยได้ ทำให้สินค้ามีราคา มีความสวยงาม ขายได้มากขึ้น และสุดท้ายรายได้ที่มากขึ้นก็กลับไปสู่เกษตรกร ชาวเขา ตามที่พระองค์ท่านได้เป็นผู้ริเริ่มไว้นั่นเอง
“ตลอด 10 กว่าปีกับการเป็นจิตอาสา สิ่งที่ผมได้รับไม่ใช่เงินทอง แต่เป็นความสุขที่เกิดจากการเป็นผู้ให้ ผมได้รับรอยยิ้ม มิตรภาพ ความรัก และความจริงใจ ซึ่งหาได้ยากในสังคมนี้ การให้ อย่ามองว่า เราจะให้ก็ต่อเมื่อพร้อมทั้งหมด ความพร้อมมีอยู่หลายปัจจัย ปัจจัยทรัพย์สิน ปัจจัยเรี่ยวแรง หรือแม้แต่ปัจจัยที่เรียกว่าวิชาชีพ เราพร้อมส่วนไหน ก็ทำส่วนนั้นเลย ฉะนั้นในมูลนิธิโครงการหลวงหรือโครงการอะไรต่างๆ ของพระองค์ท่าน ซึ่งมีอยู่อีกมากมายเลย คำว่า จิตอาสา เป็นสิ่งที่ต้องการ เราทุกคนสามารถเข้าไปช่วยเติมเต็ม เพื่อจะได้มีโอกาสเป็นผู้ให้ เพราะการเป็นผู้ให้ โดยไม่หวังสิ่งตอบแทน มันคือความสุข และนับได้ว่าเป็นการเดินตามรอยของพระองค์ท่าน เพราะท่านทรงเป็นผู้ให้ที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาล”
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี