ออมสิน ปรับแนวแก้หนี้ครู 4.2 แสนล.ดึงงบ 2.5 พันล.จ่ายคืนลูกหนี้ดี

ออมสิน ปรับแนวแก้หนี้ครู 4.2 แสนล.ดึงงบ 2.5 พันล.จ่ายคืนลูกหนี้ดี

ออมสิน ปรับแนวแก้หนี้ครู 4.2 แสนล.ดึงงบ 2.5 พันล.จ่ายคืนลูกหนี้ดี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ออมสิน-กระทรวงศึกษาธิการ สรุปแนวทางแก้ปัญหาหนี้ครู ยกเลิกให้ สกสค.บริหารหนี้ครูแทน นำเงิน ค่าบริหารหนี้ 2,500 ล้านบาท มาจ่ายคืนครูที่เป็นลูกหนี้ดีแทน พร้อมออก 3 แนวทางปรับโครงสร้างหนี้เปิดโอกาสให้ครู 6 หมื่นคนที่เป็นหนี้เสียผ่อนไม่ไหวเข้าโครงการ  เผยยอดหนี้ครูคงค้างสูงถึง 4.2 แสนล้านบาท 

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารฯได้หารือกับนายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ และได้เห็นชอบในหลักการร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาหนี้ครูกับคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.)แล้ว

โดยเห็นชอบให้ยกเลิกข้อตกลงในการหักเงินจากบัญชีกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคง ตามโครงการสวัสดิการเงินกู้การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) เช่นเดียวกับให้ออมสินยกเลิกจ่ายค่าบริหารติดตามหนี้ครู 0.5 - 1% ของมูลหนี้ ให้กับ สกสค. ประมาณ 2,500 ล้านบาทต่อปี แล้วให้นำเงินดังกล่าวมาจ่ายคืนให้กับครูที่มีวินัยในการผ่อนหนี้ดีติดต่อกัน 12 เดือนแทน โดยธนาคารจะจัดสรรเงินคืน (แคชแบ็ค ) ให้ครูในอัตรา 0.5-1 % ของดอกเบี้ยที่ชำระ หรือตามอัตราที่ธนาคารกำหนด เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ครูที่ดีต้องการชำระหนี้

นอกจากนี้ ออมสินยังเปิดโอกาสให้ครูที่เป็นหนี้เสียกับธนาคาร หรือมีแนวโน้มผ่อนชำระหนี้ต่อไม่ไหว ให้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคาร โดยได้รับเงื่อนไขพิเศษ 3 แนวทาง คือ

1.กรณีรายได้คงเหลือหลังหักค่าใช้จ่ายมากกว่า 30% ของรายได้ สามารถพักชำระเงินต้นไม่เกิน 3 ปี และชำระดอกเบี้ยปกติ 100%

2.กรณีรายได้คงเหลือหลังหักค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 15-30% ของรายได้ สามารถพักชำระเงินต้นไม่เกิน 3 ปี และชำระดอกเบี้ยปกติไม่น้อยกว่า 50% 

3.กรณีรายได้คงเหลือหลังหักค่าใช้จ่ายน้อยกว่า 15% ของรายได้ สามารถพักชำระเงินต้นไม่เกิน 3 ปี และชำระดอกเบี้ยปกติไม่น้อยกว่า 25% เบื้องต้นคาดจะมีลูกหนี้เดิมที่ต้องการปรับโครงสร้างและลูกหนี้ที่จะผ่อนชำระต่อไม่ไหวเข้าโครงการ 5- 6 หมื่นราย

ทั้งนี้คาดว่าธนาคารและกระทรวงศึกษาจะลงนามเพื่อยกเลิกข้อตกลงเดิม และเริ่มข้อตกลงใหม่ในต้นปี 61 แต่ในส่วนลูกหนี้ครูที่มีปัญหาสามารถมาขอปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารได้เลยตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป  ส่วนการติดตามทวงหนี้ต่อจากนี้ หลังจากยกเลิกข้อตกลงกับ สกสค. แล้วในต้นปีหน้า  กระทรวงศึกษาธิการ จะรับประสานหน่วยงานต้นสังกัด ได้แก่ สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จะให้ความร่วมมือในการนำส่งชำระหนี้ให้ธนาคาร

ล่าสุดธนาคารมียอดสินเชื่อครูคงค้างที่ 4.75 แสนบัญชี คิดเป็นวงเงินสินเชื่อกว่า 4.2 แสนล้านบาท  ในจำนวนนี้เป็นลูกหนี้ครูที่มีปัญหาหนี้ที่เสีย หรือ เอ็นพีแอล 9,250 ราย  คิดเป็นวงเงิน 5,432 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับ 1.2 % ของยอดสินเชื่อครูคงค้าง ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารได้ฟ้องร้องดำเนินคดีไปแล้วกว่า 2,000 ราย เหลืออีก 7,000 รายที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้าง

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook