หลักเศรษฐกิจพอเพียงกับการลงทุนในตลาดหุ้น
“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานพระราชดำริเพื่อชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาเป็นเวลานานกว่า 25 ปี เศรษฐกิจพอเพียงเป็นปรัชญาซึ่งชี้ถึงแนวการดำรงชีวิตที่เหมาะสมของประชาชนในทุกระดับ รวมไปถึงการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้สามารถรับมือกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน หลักของเศรษฐกิจพอเพียงนั้นประกอบด้วย “3 ห่วง” และ “2 เงื่อนไข”
3 ห่วง ประกอบไปด้วย
1) พอประมาณ หมายถึง ความพอดีไม่มากหรือน้อยจนเกินไป กระทำสิ่งใดต้องไม่เบียดเบียนตนเอง หรือทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน
2) มีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจทำอะไรแต่ละอย่างนั้นจะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยมีการพิจารณาถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องและผลลัพธ์ที่ตามมาอย่างรอบคอบ
3) มีภูมิคุ้มกัน หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ
2 เงื่อนไข ประกอบไปด้วย
1) ความรู้ คือ มีความรอบรู้ด้านวิชาการหรือเกี่ยวกับสิ่งที่ทำอย่างครบถ้วน และมีความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการวางแผน
2) คุณธรรม คือ มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่กระทำสิ่งที่เป็นการคดโกงหรือเบียดเบียนผู้อื่น
การประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง
พอประมาณ
ประเมิณความเหมาะสมของตนเองในการลงทุน
แต่ละบุคคลย่อมมีพื้นฐานที่แตกต่างกันทั้งด้านทุนทรัพย์หรือระดับความเสี่ยงในการลงทุน ก่อนตัดสินใจลงทุนในหุ้นใด ๆ ผู้ลงทุนควรจะต้องประเมิณตนเองก่อนว่าระดับความเสี่ยงที่ตนรับได้อยู่ในระดับไหน แล้วลักษณะของหุ้นประเภทไหนที่ตรงกับความต้องการของตนเอง เพราะหุ้นแต่ละประเภทนั้นมีความเสี่ยงไม่เท่ากัน เช่น หุ้น Growth Stock ย่อมมีความเสี่ยงกว่าหุ้นที่เน้นผลตอบแทนจาก Dividend อีกทั้งจำนวนเงินที่ใช้ลงทุนนั้นก็ควรที่จะอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับสถานะทางการเงินของตนเอง
เงินที่ใช้ลงทุนควรเป็นเงินเย็นเป็นหลัก
เมื่อเรานำเงินมาลงทุนในตลาดหุ้น ไม่มีใครสามารถตอบได้ว่าผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่เราถือนั้นจะต้องใช้เวลาเท่าไหร่จึงจะเห็นผลลัพธ์ตามที่เราต้องการ หากเรามีความจำเป็นต้องโยกย้ายเงินลงทุนบ่อย ๆย่อมทำให้ประสิทธิภาพของแผนการลงทุนนั้นลดลงหรือไม่เป็นไปตามที่ต้องการ เงินที่จะนำมาลงทุนจึงควรเป็นเงินเย็นเสมอ *เงินเย็น คือ เงินที่ไม่มีต้นทุนหรือภาระจากการกู้ยืม และไม่มีความจำเป็นต้องนำไปใช้ในเร็ววัน ส่วนใหญ่หมายถึงเงินเหลือหรือเงินออม
มีเหตุผล
ลงทุนหุ้นด้วยพื้นฐาน
การเลือกหุ้นในการลงทุนนั้นควรอิงจากปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก ได้แก่ การมองภาพธุรกิจที่สามารถเติบโตได้ ระดับรายได้ที่เป็นไปได้ของบริษัทในอนาคต และตัวเลขทางการเงินซึ่งสะท้อนถึงความถูกหรือแพงของบริษัท เช่น P/E, ROA, ROE เป็นต้น
*P/E Ratio = ราคาหุ้นปัจจุบัน / กำไรต่อหุ้น (EPS) ในสี่ไตรมาสล่าสุด
*ROA = กำไรสุทธิ / รวมสินทรัพย์ทั้งหมด
*ROE = กำไรสุทธิ / ส่วนของผู้ถือหุ้น
ไม่เชื่อข่าวลือ ข้อมูลโคมลอย
การเลือกลงทุนในหุ้นโดยอาศัยข้อมูลข่าวลือเป็นหลัก แสดงถึงการตัดสินใจที่ไม่สมเหตุสมผลของนักลงทุน เพราะผู้ลงทุนไม่สามารถประเมิณปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ผลลัพธ์ที่น่าจะเกิดขึ้น รวมถึงระดับความเสี่ยงในการลงทุน การลงทุนด้วยวิธีนี้จึงถือว่าไม่เหมาะสมตามหลักความมีเหตุผลของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
มีภูมิคุ้มกัน
จัดพอร์ตการลงทุน
สินทรัพย์ลงทุนนั้นมีหลายประเภท เช่น หุ้นสามัญ พันธบัตร เงินฝากออมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ โลหะมีค่า ซึ่งแต่ละประเภทนั้นมีความเสี่ยงไม่เท่ากัน ผู้ลงทุนต้องประเมิณตนเองว่าสามารถรับความเสี่ยงได้ในระดับไหน แล้วจัดพอร์ตการลงทุนโดยจำแนกสัดส่วนของสินทรัพย์แต่ละประเภทตามความเหมาะสม การจัดพอร์ตไม่ควรที่จะลงทุนในสินทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงทั้งหมดเมื่อเกิดขาดทุนก็จะทำให้ขาดทุนมาก แต่หากลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงต่ำทั้งหมดผลตอบแทนที่ได้ทั้งหมดก็จะต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
กระจายความเสี่ยงการลงทุนในหุ้นหลาย ๆ กลุ่ม
นอกจากจะต้องจัดพอร์ตการลงทุนแล้ว สัดส่วนเงินที่นำมาลงทุนในหุ้นก็ควรจะต้องมีการกระจายความเสี่ยงเพิ่มอีกชั้นหนึ่ง เพราะหุ้นแต่ละกลุ่มธุรกิจนั้นย่อมมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบแตกต่างกัน การกระจายความเสี่ยงไปในหุ้นหลายๆกลุ่มจะช่วยให้สามารถรับมือกับเรื่องที่ไม่คาดฝันได้ดีกว่าการลงทุนหุ้นตัวเดียวหรือกลุ่มเดียว
ซื้อหุ้นพื้นฐานดี ในจังหวะที่มีความเสี่ยงต่ำ
การเลือกซื้อหุ้นอย่างมีภูมิคุ้มกันนั้น อันดับแรกต้องซื้อหุ้นโดยอิงพื้นฐานของหุ้นเป็นหลัก และควรที่จะลงทุนในขณะที่มูลค่าทางการเงินของหุ้นนั้นไม่แพงจนเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับโอกาสเติบโตในอนาคต ผู้ลงทุนไม่ควรที่จะซื้อหุ้นในจังหวะที่มีการประโคมข่าวหรือเก็งกำไรราคามาก ๆ จนราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปมากกว่าความเหมาะสมทางพื้นฐาน
ความรู้
เข้าใจรูปแบบการลงทุนของตนเอง
ต้องเข้าใจว่าการซื้อหุ้นนั้นต่างจากซื้อหวยตรงที่ไม่มีวันที่บอกแน่นอนว่าเราจะได้กำไรหรือขาดทุนเมื่อใด ผู้ลงทุนจึงต้องเข้าใจลักษณะการลงทุนของตนเองว่าต้องการผลตอบแทนในระยะสั้น กลาง หรือยาว และควรเลือกประเภทหุ้นที่ลงทุนให้เหมาะสมกับจุดประสงค์ของตนเอง
ความรู้ด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม
ความรู้ด้านเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เราวิเคราะห์แนวโน้มความเป็นไปของตลาดทุนได้ ซึ่งครอบคลุมทั้งเศรษฐกิจของประเทศและโลก ส่วนความรู้ด้านอุตสาหกรรมจะช่วยให้เข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจของบริษัทที่เราต้องการลงทุนได้อย่างลึกซึ้ง
ความรู้ทางด้านการเงิน
อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการลงทุนหุ้น คือความรู้ด้านการเงิน เพราะการวิเคราะห์เพื่อเลือกซื้อหุ้นนั้นก็ต้องใช้การประเมิณมูลค่าทางการเงินเป็นหลัก อีกทั้งการวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจนั้นก็ต้องอาศัยการวิเคราะห์งบการเงินของบริษัทเป็นส่วนสำคัญอีกด้วย
รู้จักและเข้าใจผลิตภัณฑ์ทางการเงินในตลาดหุ้น
ในตลาดหุ้นนั้นนอกจากการเคลื่อนไหวของหุ้นสามัญทั่วไปแล้ว ยังมีกระบวนการทางการเงินของบริษัทหรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่น ๆ อีกหลายชนิด เช่น การจ่ายเงินปันผล การเพิ่มทุน การควบรวมบริษัท เป็นต้น การศึกษาทำความเข้าใจกระบวนการต่าง ๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ให้ครบถ้วนจะช่วยให้เราเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นและความเป็นไปของบริษัทที่ลงทุนได้ชัดเจนขึ้น
คุณธรรม
ไม่ใช้ข้อมูลวงในในการลงทุน
การซื้อขายหุ้นด้วยข้อมูลวงในนั้นนอกจากจะถือว่าเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ยังเป็นการกระทำที่ต้องห้ามและผิดกฎหมายอีกด้วย
ไม่เผยแพร่หรือกระจายข้อมูลเท็จเพื่อประโยชน์ส่วนตน
การเผยแพร่ข้อมูลใด ๆ โดยมีจุดประสงค์แอบแฝงให้ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นเพื่อประโยชน์ส่วนตน นั้นถือว่าขาดคุณธรรมด้านความซื่อสัตย์ และยังเป็นการสร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้อื่น
ลงทุนหุ้นที่บริษัทยึดถืออยู่ในหลักธรรมาภิบาล
หลักธรรมาภิบาล หมายถึง แนวทางในการจัดระเบียบเพื่อให้สังคมของประเทศทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชนและภาคประชาชน สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข และตั้งอยู่ในความถูกต้องเป็นธรรม ตามหลักพื้นฐานการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี บริษัทที่ยึดถือหลักธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจจะทำให้การเติบโตของบริษัทนั้นเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพ และยังช่วยเสริมสร้างความมีประสิทธิภาพของตลาดหุ้นไทยให้ดียิ่งขึ้น