หนีกรุง เริ่มต้นชีวิตเกษตรกรทฤษฎีใหม่

หนีกรุง เริ่มต้นชีวิตเกษตรกรทฤษฎีใหม่

หนีกรุง เริ่มต้นชีวิตเกษตรกรทฤษฎีใหม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในปี พ.ศ. 2532 ในหลวง ร.9 ทรงทำการศึกษาและวิจัยเชิงปฏิบัติ เกี่ยวกับ ทฤษฎีใหม่ ในพื้นที่ส่วนพระองค์ขนาด 16 ไร่ 2 งาน 23 ตารางวา ในตำบลห้วยบง อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี ต่อมาทรงมอบให้มูลนิธิชัยพัฒนาที่ทรงจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเสริมโครงการของรัฐดูแลต่อไป เพื่อเป็นต้นแบบสาธิตการพัฒนาและช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบความยากลำบากจากการขาดแคลนน้ำ พระราชดำรินี้ ทรงเรียกว่า " ทฤษฎีใหม่ " คือ แนวทางบริหารการจัดการที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด แนวทางของเกษตร ทฤษฎีใหม่ จึงไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อความโลภหวังเงินทองร่ำรวย แต่เพื่อการดำรงชีวิตให้อยู่รอดตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง มีแนวทางสำคัญ ดังนี้

เกษตรกรจะเลี้ยงตัวเองได้ในระดับประหยัดอดออม และอาศัยความร่วมมือร่วมใจของชุมชน เช่น การ "ลงแขก" แบบดั้งเดิม เพื่อลดค่าใช้จ่าย

เกษตรกรจะมีข้าวกินตลอดทั้งปี จากพื้นที่นา 5 ไร่ ยึดหลักพึ่งตนเองอย่างมีอิสรภาพ

เกษตรกรจะมีน้ำใช้เพาะปลูกตลอดทั้งปี ในหลวงรัชการที่ 9 ทรงพระราชทานพระราชดำริเป็นแนวทางว่า ต้องมีน้ำ 1,000 ลูกบาศก์เมตร ต่อการเพาะปลูก 1 ไร่ โดยประมาณ

การจัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน บนแปลงที่ดิน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดนี้ ในหลวง ร. 9 ทรงคำนวณและคำนึงจากอัตราถือครองที่ดินถัวเฉลี่ย ครัวเรือนละ 15 ไร่ จึงมีสูตรสัดส่วนคร่าว ๆ ว่าเป็น พื้นที่นาข้าว 5 ไร่ , พื้นที่ไร่พืชสวน 5 ไร่ , พื้นที่บ่อน้ำ 3 ไร่ ลึก 4 เมตร จุประมาณ 19,000 ลูกบาศก์เมตร เพียงพอที่จะสำรองไว้ใช้ยามฤดูแล้ง และ พื้นที่ที่อยู่อาศัยและอื่น ๆ 2 ไร่ เป็นต้น หรือ ตาม อัตราส่วน 30:30:30:10 ดังนี้

 

30% = บ่อเก็บน้ำ แหล่งน้ำยามหมดฤดูฝน ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์น้ำและพืชน้ำต่าง ๆ

30% = นาข้าวในฤดูฝน เพื่อเป็นอาหารเพียงพอตลอดปี ลดค่าใช้จ่ายได้

30% = ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร ฯลฯ เพื่อเป็นอาหาร หากเหลือบริโภคก็นำไปจำหน่าย

10% = ที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ และโรงเรือนอื่น ๆ

ประเภทพืชปลูก ควรปลูกผสมผสานเพื่อ เก็บกิน เก็บขาย หรือ บำรุงดิน เช่น ไม้ผลและผักยืนต้น ( มะม่วง มะพร้าว มะขาม ขนุน ฯลฯ) ผักล้มลุกและดอกไม้ ( มันเทศ ถั่วฝักยาว ดาวเรือง กุหลาบ ฯลฯ ) กลุ่มเห็ด กลุ่มสมุนไพรและเครื่องเทศ ไม้ใช้สอยและเชื้อเพลิง (มะพร้าว สะเดา ประดู่ ยางนา ฯลฯ ) กลุ่มพืชไร่ ( ข้าวโพด ถั่วเหลือง อ้อย มัน สำปะหลัง ละหุ่ง นุ่น ฯลฯ) รวมทั้ง พืชบำรุงดิน และ พืชคลุมดิน (ถั่วมะแฮะ ถั่วฮามาต้า โสนแอฟริกัน โสนพื้นเมือง ฯลฯ )

ประเภทสัตว์เลี้ยง อย่างสัตว์น้ำ เช่น ปลาไน ปลานิล ปลาตะเพียนขาว ปลาดุก เพื่อเป็นอาหารและจำหน่ายเป็นรายได้เสริม รวมทั้ง หมู หรือ ไก่ เพื่อนำมูลสุกรและไก่เป็นอาหารปลา

ท้ายนี้ แม้ว่าการดำเนินการตาม ทฤษฎีใหม่ จะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแต่ละพื้นที่มีสภาพดินและปริมาณน้ำแตกต่างกัน บางพื้นที่อาจเป็นดินไม่อุ้มน้ำ อย่างดินร่วน ดินทราย เป็นต้น หรือ เป็นพื้นที่ไม่สามารถปลูกพืชได้ เพราะเป็นดินเปรี้ยว ดินเค็ม เป็นต้น จึงควรปรึกษาเจ้าหน้าที่เชียวชาญด้านเกษตรในพื้นที่นั้น ๆ เสียก่อน รวมทั้ง สภาพภูมิศาสตร์พื้นที่นั้น ๆ เช่น พื้นที่ภาคใต้มีปริมาณน้ำฝนสูง อาจลดขนาดบ่อน้ำลง เป็นต้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook