สปส.โต้ปมถังแตก โชว์ตัวเลขกองทุน 1.6 ล้านล้านบาท
สำนักงานประกันสังคม ระบุ ยังมีเงินกองทุนกว่า 1.6 ล้านล้านบาท และปีนี้มีกำไรจากการลงทุนกว่า 4 หมื่นล้านบาท ย้ำการเก็บเงินสมทบเพิ่มเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ ไม่ใช่ความอยู่รอดของกองทุน
วันนี้ (27 ต.ค.60) นายแพทย์สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการนำเงินกองทุนประกันสังคมไปลงทุนเพื่อให้ผลกำไรตอบแทนนั้น ล่าสุดมีผลตอบแทนจากการลงทุนจำนวน 41,306 ล้านบาท ทำให้สถานะ ณ วันที่ 30 กันยายน 2560 กองทุนประกันสังคมมีเงินลงทุนรวมกว่า 1.68 ล้านล้านบาท แบ่งตามสิทธิประโยชน์เพื่อผู้ประกันตน กรณีสงเคราะห์บุตรและชราภาพ 1.5 ล้านล้านบาท กรณีเจ็บป่วย ตาย ทุพพลภาพ คลอดบุตร 46,447 ล้านบาท กรณีว่างงาน 126,058 ล้านบาท กรณีผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 7,053 ล้านบาท
ด้านนางสาวอำพันธ์ ธุววิทย์ โฆษก สปส.กล่าวถึงกรณีเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่ สปส.เตรียมขยายเพดานเงินสมทบเพิ่มจาก 15,000 เป็น 20,000 บาท และเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนไม่เกิน 1,000 บาท ว่าเป็นเพราะกองทุนมีความไม่มั่นคง โดยขอยืนยันว่าเจตนารมณ์ของการเก็บเงินสมทบเพิ่มนั้นเพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตน ไม่ได้ทำเพื่อตอบโจทย์ความมั่นคงของกองทุน โดยสิทธิประโยชน์ที่เห็นอย่างชัดเจนคือการชดเชยการขาดรายได้ จากการทุพพลภาพ และกรณีบำนาญชราภาพก็จะได้รับเพิ่มมากขึ้น
และขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการปฏิรูปกองทุนชราภาพผ่านเวทีรับฟังความเห็น 12 แห่ง ทั่วประเทศ ซึ่งจะจบกระบวนการนี้ในเดือน พ.ย.นี้ นอกจากนี้รับฟังความเห็นผ่านเว็บไซต์ ขอให้ผู้ประกันตนเข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย จากนั้นจะมีคณะทำงานรวบรวมความเห็นไปประมวลและทำการปรับแก้ซึ่งคิดว่าน่าจะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี
ด้าน นายสมพร ขวัญเนตร รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า แม้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะบอกว่า ยังไม่มีการเก็บเงินสมทบประกันสังคมเพิ่ม เนื่องจากกระแสสังคมยังไม่เห็นด้วย แต่การปรับแก้กฎหมายก็ยังดำเนินการอยู่ ก็ต้องจับตาดูว่า สปส.จะรอจังหวะในการเสนอกฎหมายเมื่อใด ทั้งนี้ การขยายอายุกองทุนประกันสังคม โดยการปรับเพิ่มเงินสมทบไม่ใช่ทางออก และยังเป็นการผลักภาระให้ผู้ประกันตนและนายจ้างด้วย ทั้งที่โครงสร้างทางการเงินนั้นมีปัญหามาจากการแก้กฎหมายให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบน้อยลงจาก 5% เป็น 2.75% และยังค้างจ่ายอยู่อีกกว่า 5.6 หมื่นล้านบาท ดังนั้น การจะปฏิรูปกองทุนประกันสังคม เพื่อความเป็นธรรม ก่อนอื่นต้องปรับให้นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาลจ่ายเงินสมทบเท่ากันก่อน และรัฐบาลต้องจ่ายเงินในส่วนที่ยังค้างอยู่ จากนั้นค่อยมาพิจารณาว่ากองทุนจะอยู่ได้นานอีกกี่ปี แล้วจะมาปรับเพิ่มก็ย่อมได้