“ลดพกเงินสด” ชีวิตแสนง่ายกับธุรกรรมการเงินยุคใหม่

“ลดพกเงินสด” ชีวิตแสนง่ายกับธุรกรรมการเงินยุคใหม่

“ลดพกเงินสด” ชีวิตแสนง่ายกับธุรกรรมการเงินยุคใหม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โลกที่หมุนอยู่ตลอดเวลา ส่งผลต่อเทคโนโลยีและพฤติกรรมที่ต้องเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เหมือนกับการใช้จ่ายในปัจจุบันที่ธุรกรรมการเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญ กระจายไปยังธุรกิจต่าง ๆ ทำให้ประชาชนทั่วไปที่เป็นผู้บริโภคต้องปรับตัวตาม และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้เทคโนโลยีทางการเงินช่วยอำนวยความสะดวก ง่ายต่อการใช้งานลดการพกเงินสดติดตัวอย่างมาก เพราะมีเพียงบัตรเดบิต 1 ใบ หรือสมาร์ทโฟน 1 เครื่องก็ใช้จ่ายเลือกซื้อสิ่งของ กินข้าว ทานกาแฟ ได้อย่างง่ายดาย

“เนชั่นแนล อีเพย์เมนต์”

ที่ผ่านมา รัฐบาลเดินหน้าผลักดันแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ "เนชั่นแนล อีเพย์เมนต์"  ผ่าน 4 โครงการ 1.ระบบรับและโอนเงินพร้อมเพย์ 2.การขยายการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ 3.ระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และ 4.โครงการอี-เพย์เมนต์ภาครัฐ หวังลดการใช้เงินสดของประเทศที่สามารถลดต้นทุนในการผลิตประหยัดได้กว่าปีละ 1.8 แสนล้านบาท รวมถึงป้องกันปัญหาคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เพราะกระบวนการรับส่งเงินของภาครัฐมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน 

ขณะเดียวกันยังส่งผลให้ธุรกิจฟินเทคขยายตัวเพิ่มขึ้น หรือธุรกรรมทางเงินยุคดิจิทัล ทั้งการชำระค่าสินค้าและบริการ รวมถึงการโอนเงินผ่านมือถือหรือทางอินเทอร์เน็ตเช่นการโมบายแบงกิ้ง ตู้กดเติมเงินโทรศัพท์ การซื้อขายหุ้นผ่านออนไลน์ ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นบริการการเงินที่ทำได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องอาศัยคนเป็นผู้ให้บริการ ด้วยการตีโจทย์การบริการทางการเงินที่ง่ายและสะดวก หรือเรียกว่าทำธุรกรรมการเงินแสนง่ายด้วยปลายนิ้ว

ต้องยอมรับว่า การโอนเงินเป็นบริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ขั้นพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อการเคลื่อนย้ายเงินในระบบเศรษฐกิจของประเทศและมีความเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน เช่น การโอนเงินระหว่างบุคคลของประชาชน การโอนเงินเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการของภาคธุรกิจ รวมถึงการโอนเงินสวัสดิการและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของภาครัฐ การมีบริการโอนเงินที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยจึงเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินไปได้อย่างคล่องตัว รวมถึงช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางธุรกิจของประเทศ

และปัจจุบันประเทศไทยสามารถรองรับการโอนเงินระหว่างสถาบันการเงินได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย หลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการใช้เลขประจำตัวประชาชน หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ หมายเลขกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ เลขที่บัญชีธนาคาร หรือที่อยู่ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ ในการระบุผู้รับโอนที่ได้ลงทะเบียนไว้กับสถาบันการเงิน รวมถึงรองรับการรับชำระเงินของร้านค้า และธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง รวมทั้งยังเป็นช่องทางในการจ่ายเงินสวัสดิการจากภาครัฐสู่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

โอนเงินง่ายแค่ปลายนิ้ว

“บริการพร้อมเพย์” ที่โอนเงินระหว่างสถาบันการเงินได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย กับอัตราค่าธรรมเนียมพร้อมเพย์โอนเงินระหว่างบุคคล ไม่เกิน 5,000 บาท ฟรีค่าธรรมเนียม . มากกว่า 5,000 แต่ไม่เกิน 3 หมื่นบาท คิดอัตรา 2 บาท  , มากกว่า 3 หมื่นบาท แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท คิดอัตรา 5 บาท และเกิน 1 แสนบาทขึ้นไป ถึงวงเงินสูงสุดที่กำหนด คิดอัตรา 10 บาทเท่านั้น ถือเป็นโครงการสนับสนุนการลดการใช้เงินสดในทุกภาคส่วน ลดต้นทุนการบริหารจัดการธนบัตรของประเทศ เช่น การพิมพ์ การขนส่ง การนับคัด และการทำลายธนบัตร เพิ่มความโปร่งใส และลดปัญหาการทุจริตและเศรษฐกิจนอกระบบ รวมถึงเพิ่มความรวดเร็วคล่องตัวในการหมุนเวียนเงินในระบบเศรษฐกิจของประเทศ

รูดปรื๊ดกินช้อปแสนสบาย

“บัตรอิเล็กทรอนิกส์” เช่น บัตรเอทีเอ็มและบัตรเดบิต กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยยกระดับวิถีชีวิตของประชาชน และสนับสนุนให้ประชาชน ภาคธุรกิจ ภาครัฐ เข้าถึงบริการทางการเงิน การชำระเงินเพิ่มขึ้นอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นสื่อการชำระเงินที่ประชาชนมีความคุ้นเคย เพราะที่ผ่านมาประชาชน ส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการใช้บัตรเดบิต เพื่อถอนเงินสดจากเครื่องเอทีเอ็มมาเพื่อใช้สอยในชีวิตประจำวันเท่านั้น

แต่ปัจจุบันมีบทบาทมากขึ้น เพราะส่งเสริมการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แทนการใช้เงินสดในทุกภาคส่วน โดยภาครัฐจะรับชำระค่าธรรมเนียมผ่านบัตรเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและภาคธุรกิจมากขึ้น และยังใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์เป็นเครื่องมือหนึ่งในการจ่ายเงินสวัสดิการจากภาครัฐไปสู่ประชาชนโดยตรง ถือเป็นการยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชน เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของภาคธุรกิจ และประเทศ สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาล

“กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์”

และการบริการรูปแบบใหม่ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ที่เกิดผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet หรือe-Money) เพิ่มขึ้น แบบไม่ต้องพกเงินสดติดตัวก็ว่าได้ เพราะข้อมูลทางการเงินถูกบรรจุไว้ในแอพพลิเคชั่นของผู้ให้บริการ ทำให้เราจะไปไหนมาไหนก็ง่ายแสนสะดวกสบาย เพราะช่วยเพิ่มความสะดวกในการโอนเงินหรือเติมเงินระหว่างบัญชีเงินฝากธนาคารกับกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ให้บริการที่ไม่ใช่ธนาคาร เป็นการเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนมีช่องทางการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่รวดเร็วมากขึ้น และนำไปสู่การผลักดันประเทศไทยเข้าสู่สังคมการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างสมบูรณ์

เห็นแบบนี้แล้ว หากไม่เริ่มทดลองใช้คงไม่ได้ เพราะธุรกรรมการเงินยุคใหม่ ที่มีเพียงบัตรเดบิต 1 ใบ หรือสมาร์ทโฟน 1 เครื่องสามารถใช้จ่ายง่ายต่อการใช้งานในชีวิตประจำวัน ช่วยอำนวยความสะดวกลดการพกเงินสดติดตัวได้อย่างแน่นอน แล้ววันนี้คุณเริ่มทดลองใช้บ้างหรือยัง...?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook