เงินลงทุน = ‘รายจ่าย’ หรือ ‘เงินออม’ เรื่องต้องทำความเข้าใจก่อนเริ่มต้นลงทุน

เงินลงทุน = ‘รายจ่าย’ หรือ ‘เงินออม’ เรื่องต้องทำความเข้าใจก่อนเริ่มต้นลงทุน

เงินลงทุน = ‘รายจ่าย’ หรือ ‘เงินออม’ เรื่องต้องทำความเข้าใจก่อนเริ่มต้นลงทุน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลายคนอาจจะคิดเหมือนว่า ในช่วงที่ทำงานประจำนั้น เรามีรายได้สม่ำเสมอและคิดว่าการลงทุนแบบออมหุ้น DCA สามารถทำได้ด้วยการบริหารรายรับ-รายจ่ายให้ดี พอเรามีเงินออมที่มากขึ้นก็นำส่วนนั้นไปลงทุนให้งอกเงยและกลายเป็นความมั่งคั่งในชีวิตอนาคตได้ สูตรของการลงทุนผมนั้นก็เลยจะเน้นในเรื่องความสำคัญของการสร้างเงินออม เช่น การแบ่งเงินออมมาซัก 10% ต่อเดือนเพื่อมา DCA

แต่ในระยะหลัง ถ้าสังเกตจะเห็นว่าการดำเนินชีวิตของคนในยุคใหม่นั้นเปลี่ยนไปเยอะ ถ้าเป็นสมัยก่อนรุ่นพ่อรุ่นแม่ ปู่ย่าตายายยังเป็นครอบครัวที่อยู่ด้วยกัน แก่ไปก็ยังมีลูกหลานคอยดูแล แต่ในปัจจุบันนั้นคนเป็นโสดมากขึ้น มีความสัมพันธ์ในสถานะที่ซับซ้อนขึ้น แม้แต่คนที่มีครอบครัวมีลูกนั้นก็อาจจะไม่สามารถให้ลูกได้ดูแลเหมือนในรุ่นก่อนหน้าได้ การเตรียมเงินให้พร้อมในยามเกษียณจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ พูดง่ายๆนั่นล่ะว่า 'ต้องมีเงินถึงอยู่ได้'

แต่คำว่าต้องมีเงินในยุคสมัยนี้มันก็ไม่ก็ไม่ง่ายเท่าไหร่ เพราะสภาพเศรษฐกิจและสังคมนั้นมีการแข่งขันกันเยอะ ค่าใช้จ่ายในแต่ละวันก็สูง ของแต่ละวันก็แพงขึ้น จะเก็บเงินยังยากเลย และถ้าพูดถึงการเก็บเงินนั้น อย่างสมัยก่อน แค่เอาเงินไปฝากในธนาคารก็จะได้ดอกเบี้ยมากกว่า 10% แล้ว สมัยนี้ดอกเบี้ยน้อยนิดมาก ต้องเอาเงินไปลงทุนให้งอกเงยแทน 

ทั้งหมดทั้งมวลนี้มันกลับเข้ามาเป็นคำถามว่า การที่เรามองว่าการลงทุนนั้นมันเป็นเรื่องที่ต่อยอดจากการออมนั้น มันใช่แน่ๆ หรือ? นั่นหมายความว่าถ้าเราไม่มีเงินออมเราก็ไม่ลงทุนหรือเปล่า? แล้วถ้าไม่ลงทุนนั้นอนาคตจะเป็นอย่างไร 

การลงทุนเพื่อให้อยู่รอดคือรายจ่ายจำเป็น

เวลาที่เราพูดถึงรายจ่ายและเงินออมนั้น ตามตำราที่ทั่วไปกล่าวว่า หากมันเป็นเรื่องของการเก็บเพื่ออนาคตเราจะมองเป็นเงินออมซะส่วนใหญ่ แต่ช่วงหลังผมมองว่าแท้จริงแล้วมันอาจจะเป็นรายจ่ายที่จำเป็นก็ได้ เราต้อง 'จ่าย' ในเรื่องของการลงทุนเพื่ออย่างน้อยให้เรามีชีวิตที่อยู่รอดในอนาคตได้

ตัวอย่างเช่น หากเรารู้ว่าในปัจจุบันเรามีอายุ 30 ปี ซึ่งสามารถทำงานจนไปถึงวันเกษียณที่อายุ 60  ปี แต่ต้องมีอายุหลังเกษียณไปจน 80 ปี เราอาจจะต้องเตรียมเงินในบั้นปลาย 7-10 ล้านบาทเพื่อให้อยู่รอด ก็ต้องมานั่งคำนวณกันดูว่า รายจ่ายที่จำเป็นในเรื่องนี้เราจะต้องเตรียมไว้ในแต่ละเดือนเท่าไหร่? 

การลงทุนเพื่อ Lifestyle ที่ดีคือการใช้เงินออมต่อยอด

อันนี้ก็เป็นมุมมองที่เปลี่ยนไปเช่นกันนะครับ เมื่อก่อนมองว่ามีเงินออมถึงจะลงทุนเพื่อเป้าหมายเกษียณ แต่ตอนนี้ ถ้าเอาแค่อยู่รอด มองแค่ว่ามันคือรายจ่ายจำเป็นที่ต้องมี แต่ถ้าเราจะทำให้ชีวิตดีขึ้นในยามเกษียณได้มากไปกว่านั้นอีก ควรมองว่าเราต้องเอาเงินออมมาต่อยอดการลงทุน พูดง่ายๆ ก็คือถ้าอยากเกษียณแล้วมีเงินใช้จ่ายไปเที่ยวเมืองนอกสบายๆ เก๋ๆได้ เงินที่จะต้องเตรียมก็มาเพิ่มในส่วนนี้

ในแนวทางการลงทุนที่น่าสนใจในปัจจุบัน คือ การลงทุนแบบ DCA เดือนละครั้ง

1. กำหนดขั้นต่ำ (Fixed) 

เอาไว้จากการคำนวณในเบื้องต้นว่า ด้วยอัตราผลตอบที่คาดหวังไว้จะทำให้เงินนั้นงอกเงยและสามารถอยู่รอดได้ในยามเกษียณ ตรงนี้ถ้าสร้างเป็นงบประมาณรายจ่ายของตัวเองทุกเดือน ให้ตายอย่างไร ก็ต้องเอาเงินมาลงทุนตรงนี้โดยไม่เปลี่ยนแปลง 

2 .ส่วนเติมเต็ม (Add)

ส่วนนี้ถือว่า นำมาลงเพิ่มเพื่อให้ชีวิตดีขึ้นในยามเกษียณ แต่หากมีแผนอื่นๆ ที่ต้องการแล้วมีความจำเป็นต้องใช้กระแสเงินสดในแต่ละเดือนจึงทำให้ต้องหยุด DCA ไป ให้เรานำเงินในแต่ละเดือนที่เป็นเงินออมไปสร้างเป้าหมายนั้นๆ แทน

ยกตัวอย่างเป็นรูปธรรมง่ายๆ เช่น คำนวณแล้วว่าหลังเกษียณ จะต้องมีเงินใช้ 7 ล้านบาท โดยที่ในแต่ละเดือนต้องลงทุน 10,000 บาท จึงจะไปถึงเป้าหมายตรงนั้นได้ แต่เราดันเก็บเงินออมเพื่อลงทุนในเรื่องอื่นๆ ได้ถึง 30,000 ต่อเดือน

รายจ่ายเพื่อการลงทุน DCA: กำหนดเอาไว้เลยที่ 10,000 บาทต่อเดือน

เงินออมเพื่อต่อยอด Lifestyle : ที่ 20,000 บาทที่เหลือนั้นมาเพิ่ม-ลด

ในกรณีที่ ถ้ามีความจำเป็นจะต้องใช้เงินไปในแผนอื่นๆ ที่เข้ามาระหว่างทาง เช่น ต้องเก็บเงินผ่อนบ้านใหม่ ก็ถือว่าเงินเก็บของเราสามารถนำมาใช้ได้คือ 20,000 บาทเท่านั้น เพราะอีก 10,000 บาท ถูกตั้งไปในงบประมาณรายจ่ายเพื่อความอยู่รอดในอนาคตแล้ว และพิจารณาความสามารถของเราในเงินก้อนที่เหลือนั้นแทน โดยที่จะไม่หยุดการ DCA แล้วเอาเงินมาผ่อนบ้านทั้ง 30,000 นั้น

ทั้งหมดนี้ก็อยู่ที่มุมมองของแต่ละคนในอนาคตที่ต้องออกแบบด้วยตัวเองแล้วครับ ในเรื่องการเงินนั้นไม่มีอะไรถูกหรือผิด หลายคนอาจจะมองว่าการลงทุนนั้นอาจจะต้องเริ่มจากการออม แต่บางคนมองว่าแค่ต้องปรับมุมมองเป็นค่าใช้จ่ายจำเป็นที่เราต้องวางแผนเพื่ออนาคต และมันไม่ใช่แค่เรื่องของการลงทุนเท่านั้น ยังรวมถึงการวางแผนการเงินเรื่องอื่นๆ เช่น การทำประกันป้องกันความเสี่ยงที่เรารอให้มีเงินออมก่อนทำประกันได้เพราะบางทีความเสี่ยงไม่รอเรานะครับ ก็หวังว่ามุมมองใหม่ๆจะเป็นประโยชน์ต่อทุกๆ ท่านครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook