กสทช.เดินหน้าลงทะเบียนซิมต้องสแกนใบหน้า-นิ้วมือ เริ่ม 15 ธ.ค.นี้
สำนักงาน กสทช. เดินหน้าลงทะเบียนซิมด้วยวิธีอัตลักษณ์ ใช้ได้ทั้งวิธีตรวจสอบใบหน้าและสแกนลายนิ้วมือ เริ่ม 15 ธ.ค.นี้ พร้อมกันทุกค่ายมือถือทั่วประเทศ
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ได้ออกประกาศ และแจ้งไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) ทุกรายเริ่มจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยวิธีอัตลักษณ์ ซึ่งเป็นวิธีที่สามารถพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคล และป้องกันการแอบอ้างหรือปลอมแปลงการลงทะเบียนซิมการ์ดได้ โดยการตรวจสอบอัตลักษณ์ทำได้ทั้งการตรวจสอบใบหน้า (face recognition) หรือสแกนลายนิ้วมือ (fingerprint) ขึ้นอยู่กับว่าจุดรับลงทะเบียนให้บริการแบบใด โดยระบบดังกล่าวใช้สำหรับผู้ที่ซื้อซิมการ์ดใหม่เท่านั้น ทั้งแบบรายเดือน และแบบเติมเงิน มีกำหนดเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2560 พร้อมกันทุกโอเปอเรเตอร์ทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงกรณีบุคคลที่ไม่ใช่สัญชาติไทยด้วย
การลงทะเบียนซิมด้วยวิธีอัตลักษณ์เป็นการส่งเสริมนโยบายของของรัฐบาลในเรื่องการดำเนินธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจำเป็นต้องมีการปรับปรุงการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการ และต้องมีการปรับปรุงการพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลของผู้ใช้บริการให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะมีการเปรียบเทียบใบหน้า (face recognition) หรือลายนิ้วมือ (finger print) ของผู้ซื้อซิมการ์ดกับข้อมูลที่เก็บในบัตรประชาชนฉบับจริง โดยหากข้อมูลมีความถูกต้องตรงกัน จึงจะอนุญาตให้มีการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการและเปิดใช้งานซิมการ์ดได้ ดังนั้น ประชาชนที่ต้องการเปิดซิมใหม่ จะต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริงไปด้วยเพื่อให้จุดให้บริการตรวจสอบข้อมูล
อย่างไรก็ตาม หากมีการตรวจสอบอัตลักษณ์แล้วไม่สามารถดำเนินการตรวจสอบได้ ให้ผู้ใช้บริการติดต่อศูนย์ให้บริการหรือสำนักงานบริการลูกค้าเพื่อดำเนินการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมการเปิดใช้งานซิมการ์ดต่อไป
“เมื่อมีการลงทะเบียนซิมการ์ดเรียบร้อยแล้ว ข้อมูลของผู้ใช้บริการจะถูกจัดส่งตรงไปยังฐานข้อมูลของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยไม่ได้มีการจัดเก็บข้อมูลไว้ที่จุดให้บริการ ซึ่งประชาชนสามารถมั่นใจได้ว่าข้อมูลส่วนบุคคลจะถูกจัดเก็บเป็นความลับและปลอดภัยอย่างแน่นอน ซึ่งการดำเนินงานครั้งนี้เป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการดำเนินการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ในการจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้มีประสิทธิภาพ มีการพิสูจน์ตัวตนได้ และยังช่วยในเรื่องความมั่นคงของรัฐ และความปลอดภัยของสังคมด้วย”