'ช้อปช่วยชาติ' ลดหย่อนเท่าไหร่ ซื้ออะไรได้บ้าง?
เมื่อวานนี้ (7 พ.ย. 60) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปี 2560 โดยยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท
สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ระหว่างวันที่ 11 พ.ย. – 3 ธ.ค. 60 ในร้านค้าหรือสถานประกอบการที่จดทะเบียน ทั้งนี้การซื้อสินค้าหรือบริการดังกล่าวต้องเป็นการซื้อหรือใช้บริการในประเทศเท่านั้น แต่สินค้านั้นไม่รวมถึงการซื้อ สุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ น้ำมัน ก๊าซ ค่าธุรกิจนำเที่ยว และค่าที่พัก
โดยสินค้าและบริการที่ไม่ได้รับสิทธิลดหย่อนมีดังนี้
- สินค้าหรือบริการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่แล้ว เช่น ผักสด ของสด หนังสือ ทองคำแท่ง การรับบริการจากสถานพยาบาล เป็นต้น
- สินค้าหรือบริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 0%
- สุรา เบียร์ ไวน์
- ยาสูบ
- น้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
- รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ
- ค่าที่พักและโรงแรม
- ค่านำเที่ยว มัคคุเทศก์
สินค้าและบริการที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ มีดังนี้
- ค่าซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้า
- ค่าซื้อสินค้าจากร้านค้า duty free
- ค่าอาหารและเครื่องดื่มในร้านอาหารและโรงแรมที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ค่าศัลยกรรมกับสถานเสริมความงามที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ค่าซื้ออุปกรณ์ตกแต่งรถ อะไหล่รถยนต์
- ค่าซื้ออุปกรณ์ตกแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า
- ค่าบริการทำสปา นวดหน้า
- ค่าตั๋วหนัง
- ค่าซ่อมรถ ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 11 พ.ย. – 3 ธ.ค. 2560
- ค่าบริการเทรดหุ้น ที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 11 พ.ย. – 3 ธ.ค. 2560
- ค่าตั๋วเครื่องบินที่บินในประเทศของสายการบินที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มระหว่างวันที่ 11 พ.ย. – 3 ธ.ค. 2560 โดยต้องซื้อและบินภายในช่วงเวลามาตรการเท่านั้น
ส่วนวิธีการลดหย่อน คือประชาชนที่ซื้อสินค้าและบริการที่มีภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ต้องนำใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบที่ได้จากห้างร้านที่จดทะเบียน VAT กับกรมสรรพากร มาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งสามารถใช้เป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงสูงสุดปีละไม่เกิน 15,000 บาท แต่ผู้ที่มีเงินได้ต่อปีรวมไม่ถึง 150,000 บาท ไม่สามารถลดหย่อนได้ เนื่องจากว่าอยู่ในเกณฑ์ยกเว้นภาษีอยู่แล้ว
สำหรับการลดหย่อนนั้น หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าสามารถลดหย่อนจากเงินช้อปปิ้ง 15,000 คือเงินคืนภาษีจากรัฐ 15,000 ได้เลยนั้นเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เพราะจะได้เงินคืนภาษีเพิ่มมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนเงินได้ต่อปีและอัตราภาษีของแต่ละบุคคลดังนี้
เงินได้สุทธิ |
อัตราภาษี |
สิทธิได้เงินคืนภาษีสูงสุด |
ไม่เกิน 150,000 |
ยกเว้น |
0 |
150,000 - 300,000 |
5% |
750 |
300,000 - 500,000 |
10% |
1,500 |
500,000 - 750,000 |
15% |
2,250 |
750,000 - 1,000,000 |
20% |
3,000 |
1,000,000 - 2,000,000 |
25% |
3,750 |
2,000,000 - 5,000,000 |
30% |
4,500 |
มากกว่า 5,000,000 |
35% |
5,250 หรือมากกว่า |