พรดีและมีนา

พรดีและมีนา

พรดีและมีนา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ที่ศาลาริมน้ำ ริมคลองอัมพวา พรดีและมีนา นั่งดูสายน้ำที่ไหลผ่าน และพูดคุยถึงเรื่องราวชีวิตที่เริ่มต้นมาเหมือนกัน แต่จบลงอย่างแตกต่าง

พรดีและมีนา อยู่ในวัย 61 ปี เป็นพี่น้องฝาแฝด เพราะเกิดในครอบครัวที่พ่อแม่เป็นครู จึงได้รับการอบรมสั่งสอนและเรียนรู้เรื่องการออมมาตั้งแต่เล็ก เก็บเงินหยอดกระปุกฝากธนาคารออมสินตั้งแต่เยาว์วัย เมื่อโตขึ้น พรดีทำงานเป็นนักบัญชี ขณะที่มีนาเลือกเข้าทำงานในสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง

“ถ้าตอนนั้นฉันเชื่อเธอคงไม่เป็นแบบนี้” มีนา เริ่มต้นบทสนทนา

“ไม่หรอก เรื่องแบบนี้ไม่มีใครรู้” พรดี ปลอบ

พรดีและมีนา ฝากเงินกับธนาคาร ซื้อสลากออมสินมาตั้งแต่เด็ก ต่อมาก็หันมาฝากเงินแบบรายเดือนนาน 2 ปี เพื่อรับดอกเบี้ยพิเศษ พรดีพอใจกับผลตอบแทนที่ได้รับ โดยเฉพาะการค่อยๆ ทยอยฝากรายเดือน เพราะเธอไม่ต้องหาเงินก้อนมาลงทุน ขณะที่มีนาก็พอใจกับอัตราดอกเบี้ยฝากประจำสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ที่ได้รับ และไม่ได้สนใจที่จะย้ายเงินไปเล่นหุ้นตามเพื่อนๆ ที่ทำงาน จนกระทั่งปี 2541 หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง อัตราดอกเบี้ยในประเทศลดลงอย่างรวดเร็วตามกลไกที่ควรจะเป็น ทำให้สองพี่น้องต้องมาหาทางออกร่วมกัน

มีนาหันมาสนใจลงทุนในหุ้นแบบซื้อๆ ขายๆ แม้จะมีตัวอย่างจากเพื่อนๆ หลายคนที่เกือบสิ้นเนื้อประดาตัวในช่วงปี 2540 แต่เธอก็มั่นใจกับตลาดหุ้นและเชื่อว่า การล้มกระดานของเศรษฐกิจไทย จะทำให้การเริ่มต้นใหม่นั้น “ง่าย” ประกอบกับเธอเป็นสาวโสด ไม่มีภาระ ไม่ใช่คนฟุ่มเฟือย จึงมีเงินเก็บออมเพียงพอที่จะเอามาลงทุนได้ก้อนใหญ่

ขณะที่พรดี ก็หันมาสนใจตลาดหุ้นเช่นกัน แต่ด้วยเธอมีครอบครัว มีลูก 2 คนต้องดูแล เงินที่เหลือเก็บรายเดือนของเธอและสามีจึงไม่มากนัก ทำให้พรดีไม่กล้านำเงินก้อนมาเล่นหุ้น แต่เลือกที่จะซื้อกองทุนหุ้นแบบรายเดือน ตามเงินที่กันไว้แต่ละเดือน ถ้ามีเหลือเก็บก็ค่อยลงทุนเพิ่มเป็นครั้งคราว ส่วนเงินเดิมๆ ที่อยู่ในธนาคาร เธอก็ยังไม่กล้าย้ายไปที่กองทุนรวม

ในช่วงแรก มีนาได้กำไรดีจากการซื้อๆ ขายๆ หุ้น โดยเฉพาะปี 2546 ที่ตลาดหุ้นไทยกลับมาบูม จึงนำเงินจากธนาคารที่สะสมไว้มาลงทุนเพิ่ม โดยไม่ฟังคำเตือนจากพรดี ที่ให้กันเงินไว้ในธนาคารเสียบ้าง อย่าทุ่มกับตลาดหุ้นไปทั้งหมด

ทว่าหลังจากปี 2547 ที่เกิดปัญหาการเมืองในประเทศ ตามด้วยเศรษฐกิจโลกที่ตกต่ำ และวิกฤตเลย์แมน บราเธอร์ ในปี 2551 มีนาเริ่มขาดทุนหนัก และซื้อขายหุ้นอย่างเปะปะ แม้มีนาจะทำงานในสถาบันการเงิน แต่งานของเธอเป็นงานหลังบ้าน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับข้อมูลกับการลงทุนในหุ้นแต่อย่างใด ถ้าเธอต้องการข้อมูล ต้องใช้เวลาส่วนตัวศึกษาเพิ่มเติมเอาเอง แต่งานที่หนักและพอร์ตที่ขาดทุน ทำให้มีนาไม่มีเวลา สับสน และลงทุนเปะปะ ซื้อขายผิดจังหวะมากขึ้น จนเงินที่มีอยู่เริ่มร่อยหรอ

ส่วนพรดี ยังคงลงทุนต่อเนื่องในกองทุนหุ้นไปเรื่อยๆ สนุกกับการเลือกกองทุนใหม่ๆ เพื่อลงทุน โดยเฉพาะกองทุน RMF และ LTF ที่ให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีเพิ่มเติม ในวันที่ตลาดหุ้นตกแรงๆ พรดีหวั่นไหวและวิตกกังวลเช่นกัน แต่ด้วยงานที่ยุ่ง ทำให้เธอมีเวลาคิดเรื่องนี้ไม่มากนัก ประกอบกับสามีบอกเสมอว่า ไม่ต้องกังวล เพราะเงินที่กันไว้ในธนาคารยังคงมีอยู่ไม่ได้ขาดทุนไปด้วย ซึ่งเป็นไปตามคำแนะนำของนักวางแผนการลงทุนที่แนะนำไว้ เนื่องจากพรดีมีอายุมากขึ้นและอีกไม่กี่ปีก็จะเกษียณ ไม่ควรลงทุนในกองทุนหุ้นมากเกินไป

ในวันที่สองสาวเกษียณ แม้ตลาดหุ้นไทยจะกลับมาให้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น และเข้าใกล้จุดสูงสุดที่เคยทำไว้ในอดีต เงินลงทุนของมีนาค่อยๆ กลับมาได้กำไร แต่ก็ยังงอกเงยไม่เพียงพอสำหรับการใช้จ่ายในวัยเกษียณ เธอจำเป็นต้องขายบ้านและย้ายมาอยู่กับพรดี ขณะที่พรดีและครอบครัวมีผลตอบแทนงอกเงยขึ้นอย่างมาก จากการซื้อสะสมกองทุนทุกเดือนไม่มีหยุด แม้ช่วงที่ตลาดหุ้นตกต่ำ เมื่อตลาดหุ้นเพิ่มขึ้น พรดีจึงมีกำไรเพิ่มขึ้นมาก เพียงพอต่อการใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างสบายๆ

“สุดท้ายเธอก็เก่งกว่าฉัน” มีนาบอกพรดี ในช่วงท้ายของบทสนทนา

“ไม่จริงหรอก เรื่องตลาดหุ้นเธอเก่งกว่าฉัน แค่เธอเลือกวิธีผิด การซื้อๆ ขายๆ แบบนั้นไม่เหมาะกับมนุษย์เงินเดือนอย่างเราที่ไม่มีเวลาติดตามข้อมูล เธอรู้จักหุ้น ลงทุนเป็น แต่นั่นไม่ได้บ่งบอกเลยว่า เราเก่งพอที่จะซื้อๆ ขายๆ ทำกำไรในสภาวะที่ตลาดหุ้นเป็นแบบนี้” พรดีปลอบใจฝาแฝดที่อยู่ด้วยกันมาทั้งชีวิต

“แต่สุดท้ายฉันก็แทบไม่เหลืออะไร” มีนายังคงโทษตัวเอง

“ไม่จริงหรอก เธอมีฉันไง” พรดียิ้มให้กับมีนา

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook