10 ข้อควรปฏิบัติ กรณีออกจากงานแต่ยังไม่มีงานใหม่รองรับ

10 ข้อควรปฏิบัติ กรณีออกจากงานแต่ยังไม่มีงานใหม่รองรับ

10 ข้อควรปฏิบัติ กรณีออกจากงานแต่ยังไม่มีงานใหม่รองรับ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

'ว่างงาน' คงไม่มีใครอยากจะได้ยินคำนี้อย่างแน่นอน เพราะนั่นอาจจะหมายถึงการไม่มีรายได้ ไม่มีความมั่นคงในการประกอบสัมมาชีพ โดยเฉพาะการออกจากงานแบบไม่ทันตั้งตัว เราควรทำอย่างไรกับสถานะ 'ว่างงาน' ของเรากันดี

Moneyguru ขอนำเสนอพร้อมมอบคำแนะนำเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ มาดูกันว่าถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ เราควรทำอย่างไร

1. ตั้งสติให้มั่น

สิ่งแรกที่ควรทำคือ ตั้งสติเราให้มั่นคง ไม่หวั่นไหวไปกับสถานการณ์ที่เรากำลังเป็นอยู่ เพื่อที่เราจะได้ไม่แย่ลงไปกว่านี้ หลังจากนั้นจึงเริ่มค่อยๆ ไล่ลำดับไปว่าเราควรทำอะไรก่อนและหลัง โดยสิ่งแรกที่ควรคิดถึง คือเรื่องเงินที่จะไว้ใช้จ่ายในตอนที่ว่างงานนี้ สำรวจว่าเรามีเงินสำรองส่วนนี้เท่าไหร่ และเงินส่วนไหนบ้างที่เราต้องได้เพิ่มเติมเข้ามา หลังจากนั้นก็ดำเนินการข้อต่อไป

2. เช็คเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ประกันสังคม รวมถึงสิทธิอื่นๆ ที่เราพึงได้รับ

หากบริษัทที่เราเพิ่งออกมานั้นมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้เราเช็คดูว่าเรามียอดเงินที่ใส่ไว้เท่าไหร่ และเงินสมทบจากนายจ้างอีกเท่าไหร่ โดยเงินที่เราจะได้คืนจากกองทุนนั้นจะอยู่ในเงื่อนไขที่กองทุนระบุไว้ ให้เราเช็ครายละเอียดให้ดี พร้อมกับอย่าลืมทำเรื่องขอคืนหลังจากลาออกด้วย

ทั้งนี้สิทธิทางประกันสังคม จะมี 2 สิทธิที่เราต้องรู้ไว้ก็คือ

2.1 สิทธิประกันตนกรณีว่างงาน

การรับสิทธินี้ มีเงื่อนไขว่าเราต้องมีการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนว่างงาน จึงจะมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือในส่วนนี้ โดยสิ่งที่จะได้รับคือ

- กรณีถูกเลิกจ้างจะได้รับประโยชน์ทดแทนในอัตรา 50% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 180 วัน

– กรณีลาออกจากงาน ได้รับในอัตรา 30% ของค่าจ้าง ครั้งละไม่เกิน 90 วัน ตามเงื่อนไขในการส่งเงินสมทบแต่ละกรณี

2.2 หลังจากลาออกจากงาน เราก็จะยังได้รับความคุ้มครองจากสำนักงานประกันสังคมต่ออีก 6 เดือน โดยนับตั้งแต่วันที่เราออกจากงาน ซึ่งความคุ้มครองที่ได้รับมี 4 กรณี คือ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ และเสียชีวิต ส่วนรายละเอียดต่างๆ จะเป็นไปตามเงื่อนไขในการส่งเงินสมทบแต่ละกรณีตามที่กำหนดไว้

3. เช็คจำนวนเงินที่เรามีอยู่ทั้งหมด

เมื่อเราเดินเรื่องทั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและประกันสังคมแล้ว ก็ให้เรามาดูว่าเงินต่างๆ ของเรามีอะไรบ้าง เช่น เงินเก็บ เงินสำรอง เงินเดือนสุดท้ายที่ผ่านมา เป็นต้น จากนั้นจึงนำทั้งหมดมาคำนวณรวมกันเพื่อที่เราจะได้ตัวเลขของเงินที่เรามีอยู่ทั้งหมดในช่วงที่ว่างงานนี้

4. วางแผนการใช้จ่ายเงินที่มีอยู่

หลังจากเรารู้ยอดเงินทั้งหมดที่เรามีอยู่ ก็ให้เราจัดการวางแผนการใช้จ่าย โดยให้คำนวณเป็นรายเดือน ว่าเดือนหนึ่งนั้นเรามีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ หรืออาจจะคำนวณเป็นรายสัปดาห์ก็ได้แล้วแต่ความสะดวก แต่ต้องไม่ลืมที่จะคำนวณค่าใช้จ่ายประจำเดือน เช่น ค่าน้ำค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ เป็นต้น เพื่อที่จะได้มองเห็นตัวเลขได้ชัดว่า เรามีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่และเงินที่เรามีอยู่จะสามารถอยู่ได้กี่เดือน เพียงพอต่อการหางานใหม่หรือไม่นั่นเอง

5. ปฏิบัติตามแผนการใช้จ่ายอย่างเคร่งครัด

เมื่อมีแผนในใจแล้ว หากไม่ปฏิบัติตามแผนอย่างเคร่งครัดก็คงไม่มีประโยชน์ เพราะไม่ว่าอย่างไรการใช้จ่ายโดยไม่รู้ขอบเขตย่อมทำให้เงินที่มีอยู่ของเราหมดไปอย่างรวดเร็วแน่นอน กลับกันหากปฏิบัติตามแผนอย่างเคร่งครัด ย่อมส่งผลให้เงินที่เรามีอยู่นั้นจะถูกใช้ไปอย่างเพียงพอในช่วงว่างงานนั่นเอง

6. ปรับแต่งประวัติการทำงานใน Resume (เรซูเม่) ของเรา

ก่อนสมัครงานใหม่ต้องไม่ลืมที่จะปรับแต่ง Resume ของเราให้ดี โดยอย่าลืมที่จะใส่ประสบการณ์ทำงานที่ล่าสุดของเราลงไปด้วย เพื่อที่จะได้เป็นการแนะนำความสามารถของเราผ่านทาง Resume ให้กับผู้ที่รับสมัครงานของเราได้รับทราบ

7. สมัครงานใหม่

ที่ทำมาทั้งหมดจะไม่มีประโยชน์เลย หากว่าเราไม่ทำข้อนี้ นั่นคือ การหาแหล่งรายได้ใหม่ หรือหางานใหม่ และเมื่อเตรียม Resume พร้อมแล้วก็ส่งได้เลย

8. ถือโอกาสเรียนรู้เพิ่มเติม

หลังจากส่งใบสมัครงานไปแล้ว สิ่งที่เราทำได้ก็คือการรอการเรียกสัมภาษณ์จากทางบริษัท แต่หากว่าเรารออย่างเดียวก็คงไม่ดีแน่ๆ ขอแนะนำว่าให้เราเรียนรู้เพิ่มเติมความรู้ใหม่ๆ เพื่อที่จะได้เสริมจุดแข็งในการทำงานให้ตัวเรา ตัวอย่างเช่น การเรียนรู้ทางภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น เป็นต้น

9. มองหารายได้เสริม

หากว่าเราพอมีความสามารถอื่นๆ เช่น ถ่ายรูป เล่นดนตรี อยู่ในระดับที่ดี เราก็อาจจะมองหารายได้เสริมในระหว่างที่รองานประจำอยู่ก็เป็นได้ นอกจากจะช่วยให้เรามีเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแล้ว ไม่แน่ในอนาคตอาจจะเป็นรายได้หลักของเราก็เป็นได้

10. พักผ่อนชาร์จพลังเตรียมไฟให้พร้อมลุยงานใหม่

หลังจากทำทั้งหมดมานี้ก็ยังไม่ได้งานใหม่ เราก็อาจจะใช้เวลานี้ในการพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อที่จะเป็นการชาร์จแบต และเตรียมพร้อมสำหรับการทำงานต่อไปของเราก็ได้ เพราะบางคนก่อนที่จะว่างงานก็อาจจะได้ทำงานมาหนักมาก จึงถือโอกาสนี่พักก็ไม่ใช่เรื่องที่เสียหายแต่อย่างใด

หวังว่า 10 ข้อที่ว่านี้จะเป็นประโยชน์และช่วยให้คนที่กำลังจะลาออกหรือว่างงานอยู่ ไม่ว่ายังไงก็ขอเอาใจช่วยให้ได้งานใหม่เร็วๆ ครับ 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook