โลกนี้ไม่ได้มีแค่ 'Bitcoin' รู้จัก 3 สกุลเงินดิจิตอลมาแรง และน่าติดตามส่งท้ายปี 2017
ราคา Bitcoin ในปัจจุบันมีความผกผันสูง แต่ก็ยังดึงดูดให้ผู้คนจำนวนมากสนใจ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เรื่องของสกุลเงินดิจิตอลในปัจจุบันไม่ได้มีแค่ Bitcoin แต่ยังมีสกุลเงินอื่นๆ อีกเพียบ เราจะมาทำความรู้จักสกุลเงินดิจิตอลอื่นๆ กัน
1. Ripple (XRP)
ที่จริงแล้วไม่ใช่ชื่อสกุลเงินดิจิตอล แต่เป็นชื่อของระบบเครือข่ายการชำระเงินทั่วโลกแบบ “Crypto” ที่ช่วยอำนวยให้การชำระเงิน แลกเปลี่ยนหรือส่งสินทรัพย์ไม่ว่าจะจากที่ใดในโลก เกิดขึ้นได้อย่างไร้แรงเสียดทานและรวดเร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการชำระเงินระหว่างธนาคารทั่วโลก การส่งเงินต่างสกุลให้ญาติที่อยู่ต่างแดน
พูดง่ายๆ ก็คือ Ripple เป็นตัวกลางที่คอยเสาะหาช่องทางที่มีต้นทุนต่ำที่สุดสำหรับการทำธุรกรรมทุกประเภท
สองจุดที่ Ripple สามารถเข้ามาเขย่าวงการได้มากที่สุดคือ 1. การทำ Settlement ระหว่างธนาคาร และ 2. การแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ
ทั้งสองจุดนี้หลายคนคงทราบดีว่าเข้าจุดอิ่มตัวมานานหลายสิบปี มีกระบวนการที่หลายต่อ และมีพ่อค้าคนกลางหลายคน การทำ Settlement ระหว่างธนาคารนั้นมักใช้เทคโนโลยียุคก่อนอินเตอร์เน็ต นั่นก็คือระบบ SWIFT ซึ่งไม่เสร็จสิ้นทันทีและมีค่าธรรมเนียมสูง การแลกเงินไปสกุลต่างประเทศลูกค้าก็มักถูกธนาคารเก็บส่วนต่างไปไม่ใช่น้อยโดยเฉพาะหากต้องการแลกซื้อเงินสกุลที่ exotic มากๆ กลับกัน ผู้ใช้งาน Ripple ที่ชื่อนายแดงสามารถส่งสินทรัพย์ไปยังบัญชีของผู้ใช้ชื่อนายดำได้แบบทันที ไม่มี Counterpart Risk และมีค่าใช้จ่ายไม่สูง
ส่วนตัวสกุลเงิน XRP นั้น นอกจากจะทำตัวเป็นราคาของทุกสินทรัพย์ในระบบ Ripple เผื่อว่าไม่มีผู้ซื้อผู้ขายที่มีความต้องการเดียวกันพร้อมกันแล้ว ยังทำตัวเป็นเหมือนตัวหล่อลื่นระบบ Ripple ด้วย โดยทุกๆ ธุรกรรมจะมีต้นทุนขนาดย่อมเป็นสกุล XRP และต้นทุนนี้ไม่มีใครเก็บไป แต่จะถูกทำลายแทน ทั้งหมดนี้เพื่อให้ไม่เกิดการ Spam ระบบขึ้น
ที่น่าสนใจที่สุด คือ Ripple มีจุดขายที่แทบจะตรงกันข้ามกับ Bitcoin ยกตัวอย่างเช่น Bitcoin ต้องการปิดบังความเป็นตัวตนของผู้ใช้ เกลียดชังการสุงสิงกับสถาบันการเงิน และยังมีข้อจำกัดมากในการทำธุรกรรมขนาดใหญ่ แต่ Ripple ฉีกแนว เน้นการใช้งานที่มีหลักฐาน มีที่มาที่ไปเกี่ยวกับผู้ใช้ครบถ้วน จึงยืดหยุ่นและเข้ากับกฎหมายของหลายประเทศได้ดีกว่า Bitcoin และพยายามที่จะเจาะตลาดที่มีอยู่แล้ว โดยใช้ประโยชน์จากความน่าเชื่อถือที่เหล่าสถาบันการเงินสร้างมากับมือเป็นเวลานาน
2. ZeroCash
Bitcoin เคยมีจุดขายหนึ่งคือความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน แต่ปัญหาคือ มันมีความเป็นส่วนตัวแค่ไหน? โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่นักวิจัยกลุ่มหนึ่งสามารถวิเคราะห์ข้อมูลธุรกรรมที่ถูกบันทึกใน Ledger ที่ทุกคนมองเห็นแล้วสืบพร้อมกับ FBI กลับไปจับตัวผู้ใช้งานรายหนึ่งที่ทำการค้ายาเถื่อนได้
นั่นก็คือถ้าถามว่า Bitcoin หรือการนัดพบเพื่อจ่ายเป็นเงินสดแบบซึ่งๆ หน้า อันไหนมีความเป็นส่วนตัวมากกว่ากัน คิดดูดีๆ แล้วธุรกรรมที่ใช้เงินสดก็ยังปกปิดความเป็นตัวตนได้มากกว่าอยู่ดี
ZeroCash คือสกุลเงินดิจิตอลที่ต้องการตอบโจทย์ของการปกปิดตัวตนของผู้ใช้อย่างสมบูรณ์ โดยมีหลักการคร่าวๆ คือผู้ใช้สามารถทำธุรกรรมได้โดยการเอาเงินไปแลกกับใบเสร็จนิรนาม แล้วใช้ใบเสร็จนั้นทำธุรกรรม สิ่งที่จะปรากฏอยู่ให้ทุกคนเห็นในภายหลังคือใบเสร็จไหนทำธุรกรรมอะไรไป แต่ไม่สามารถสืบกลับไปถึงต้นน้ำได้ว่าผู้ใช้ ZeroCash ที่ทำการสุ่มใบเสร็จนี้คือใคร
3. Dash
ณ เวลานี้ไม่มีเงินสกุลดิจิตอลน้องใหม่ร้อนแรงเท่า Dash อีกแล้ว ภายในช่วงเวลาแค่สามปี สามารถครองตลาดเงินดิจิตอลได้เป็นถึงอันดับ 3 รองจาก Bitcoin และ Ethereum
Dash คือ เงินสดดิจิตอล (Cash ที่สะกดด้วยตัว D) ที่ตั้งใจตีตลาด mass และต้องการให้คนใช้กันอย่างแพร่หลายและใช้ได้ง่ายๆ เหมือนที่คนใช้ Paypal กันอย่างทุกวันนี้
ประมาณว่าคุณไม่ต้องเข้าใจเลยว่า Paypal มีเทคโนโลยีอะไรอยู่เบื้องหลังคุณก็สามารถใช้มันอย่างง่ายดาย หากให้สรุปแบบคร่าวๆ Dash ก็คือ Bitcoin ที่มีโอกาสรุ่งในฐานะ “เงิน” ที่เป็น Medium of Exchange มากกว่า Bitcoin
สาเหตุที่ Bitcoin สอบตกในฐานะ “เงิน” เมื่อเทียบกับ Dash นั้น เหตุผลแรก ปัจจุบันต้นทุนในการทำธุรกรรม Bitcoin เริ่มสูงขึ้นจนไม่คุ้มค่าต่อธุรกรรมเล็กๆ น้อยๆ อีกต่อไปแล้ว เช่น การซื้อน้ำ ซื้ออาหาร อีกทั้งหากจะประหยัดค่าธรรมเนียมก็อาจต้องรอเป็นวันกว่าธุรกรรมจะเสร็จสิ้น Dash สามารถทำ Micropayment ที่สะดวกว่องไว มีบริการธุรกรรมที่เสร็จสิ้นได้ทันที และมีต้นทุนต่ำกว่า Dash จึงชนะไปในจุดนี้
เหตุผลที่สองคือ Dash มีสังคม และ Ownership Structure ที่ไม่น่ากระวนกระวายใจเท่ากับในกรณีของ Bitcoin ที่เต็มไปด้วยความแตกแยก ซึ่งนอกจากจะสร้างความไม่แน่นอนในอนาคตของมันแล้วยังทำให้ระบบพัฒนาหรือแก้ไขข้อบกพร่องได้ช้ากว่า Dash มาก
นอกจากนี้ Dash ยังมีตำแหน่ง “ผู้ถือหุ้นรายใหญ่” ที่เรียกกันว่า Masternodes ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีสิทธิ์ออกเสียงในการตัดสินใจความเป็นไปของ Dash ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ Scalability หรือแม้กระทั่งการจะจ้าง Developer มือดีคนไหนมาพัฒนาระบบต่อไป ซึ่งตำแหน่ง Masternodes นี้ซื้อได้ที่ราคา 1000 Dash
ในขณะที่สังคม Bitcoin เต็มไปด้วยปมการเมือง สังคม Dash เชื่อว่า คนส่วนมากอยาก “ใช้เงินให้เป็นเงิน” เหมือนที่เราถือเงินบาทในกระเป๋าสตางค์ ไม่ได้ต้องการลุ้นดราม่าว่าเงินที่ตนถืออยู่จะกลายพันธุ์ไปเป็นอะไรที่ไม่พึงประสงค์ไหม หลังจากที่ใครก็ไม่รู้ออกเสียงกันพรุ่งนี้ และไม่แคร์ว่าตนจะต้องออกเสียงอย่างไรในการประชุมรอบต่อไป ปล่อยให้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่มีแรงจูงใจมากที่สุดเป็นผู้ตัดสินใจไปดีกว่า
หวังว่าบทความนี้จะทำให้ผู้อ่านเห็นภาพอนาคตของระบบนิเวศเงินดิจิตอลชัดขึ้นนะครับ ในความเห็นส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนคิดว่าจะมีเงินสกุลใหม่ๆ ที่ออกมาตอบโจทย์ Niche แบบทั้งสามสกุลนี้เพิ่มขึ้น และจะน่าติดตามมากว่าจุดยืนของ Bitcoin จะกลายไปเป็นอะไรเมื่อจุดแข็งในอดีตของมัน กำลังถูกแซงไปทีละจุดอย่างรวดเร็วโดยเงินสกุลน้องใหม่เหล่านี้