AI เทคโนโลยีใหม่ช่วยบริหารกองทุน

AI เทคโนโลยีใหม่ช่วยบริหารกองทุน

AI เทคโนโลยีใหม่ช่วยบริหารกองทุน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงหลังมานี้ผมเชื่อว่านักลงทุนหลายท่านคงได้ยินข่าวการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยทำงานบางอย่างแทนแรงงานคนแบบเดิมๆ โดยเฉพาะการผลิตสินค้าและบริการต่างๆ จนหลายคนเริ่มกังวลว่าเราจะถูกหุ่นยนต์แย่งงานกันไปหมด ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมกองทุนหรือการแนะนำการลงทุนก็ ล่าสุดได้ยินข่าวว่า บลจ. จะมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ระบบ AI (ระบบปัญญาประดิษฐ์) เข้ามาช่วยบริหารการลงทุน เช่น วิเคราะห์ข้อมูล หารูปแบบการเคลื่อนไหวของตลาด เพื่อช่วยในการคัดเลือกหุ้นลงทุน รวมไปถึงช่วยหาสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสม และมีความสมดุลระหว่างผลตอบแทน ความเสี่ยง และต้นทุนการลงทุน  

จะว่าไปแล้วนั้นการบริหารกองทุนแบบดังกล่าวนั้นเริ่มเป็นที่นิยมอยู่ในต่างประเทศมาประมาณ 3-5 ปีที่แล้ว ในรูปแบบของกองทุนที่เรียกว่า Strategic Beta, Smart Beta หรือ Factor Investing โดยที่ทางกองทุนจะมีการมองหาปัจจัยทางการลงทุนต่างๆ เพื่อที่จะพยายามสร้างผลตอบแทนให้เหนือกว่าตลาดหรือดัชนี หรือเพื่อบรรลุเป้าหมายอย่างอื่นๆ เช่น ลดความเสี่ยง (Low Volatility) หรือกำหนดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน (Target Volatility) เป็นต้น ซึ่งในอดีตการกระทำดังกล่าวต้องอาศัยนักวิเคราะห์และความเชี่ยวชาญของผู้จัดการกองทุนในการคัดเลือกสรรหาหุ้นต่างๆ เพื่อที่จะให้บรรลุเป้าหมายของการลงทุนดังกล่าว แต่ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ประกอบกับความก้าวหน้าของข้อมูลที่มีในปัจจุบันนี้ทำให้เรื่องดังกล่าวนั้นสามารถทำได้โดยระบบคอมพิวเตอร์ ระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วเป็นอย่างมาก

โดยที่มากไปกว่านั้นระบบดังกล่าวยังสามารถทำการทดลองย้อนหลังหรือเปลี่ยนปัจจัยทางการลงทุนไปได้เรื่อยๆ จนกว่าเราจะพอใจหรือได้ผลตามต้องการ ซึ่งโดยปกติแล้วนั้นเวลากองทุนดังกล่าวนำผลตอบแทนมาเสนอขายก็มักจะบอกว่าได้ผ่านการทำ Back testing มาเป็นอย่างดีและก็สามารถทำผลลัพธ์ได้ตามเป็นหมายเป็นอย่างดีด้วยเช่นกัน

อีกทั้งวิธีการบริหารกองทุนแบบดังกล่าวยังช่วยลดต้นทุนในการบริหาร (นั่นก็หมายความว่านักลงทุนจะได้มีต้นทุนในการลงทุนถูกลงไปอีกด้วยเช่นกัน) และมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ซึ่งหากจะมองกันในมุมของการบริหารกองทุนก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการบริหารกึ่งเชิงรุก (Semi-Active) ก็ได้เช่นกันเพราะจุดประสงค์ของกองทุนนั้นก็ต้องการให้ผลตอบแทนนั้นสูงกว่า Index หรือดัชนีแต่ด้วยวิธีการปฏิบัติอาจจะคล้ายกองทุนแบบที่บริหารแบบเชิงรับ (Passive Investment) นั่นเอง

ตารางเปรียบเทียบวิธีการบริหารการลงทุนรูปแบบต่างๆ

ฟังมาถึงตรงนี้แล้วนั้นดูเผินๆ แล้วกองทุนแบบดังกล่าวดูจะมีแต่ข้อดีไปซะทุกอย่าง แต่อย่างไรก็ตามจากผลการศึกษาในต่างประเทศในเรื่องของผลการลงทุนจริงที่เกิดขึ้นของกองทุนแบบ Strategic Beta, Smart Beta นี้นั้นบริษัท Research Affiliates (Li, F., & West, J. 2017. “Live From Newport Beach. It’s Smart Beta!”) นั้นยังให้ผลลัพธ์ที่ผสมทั้งแบบที่ประสบความสำเร็จและไม่ประสบความสำเร็จอยู่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปว่าจะสามารถนำมาใช่ได้กับตลาดการลงทุนในไทยหรือไม่อย่างไร

ทั้งนี้โดยส่วนตัวของผมแล้วนั้น ผมมองว่าการมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยบริหารกองทุนนั้นมีข้อดีหลายอย่าง ทั้งเรื่องของการลดต้นทุนค่าธรรมเนียมต่างๆ ความโปร่งใสในการบริหารการลงทุน ความเป็นระบบในการบริหารการลงทุนที่มากขึ้น การลดความเสี่ยงจากการตัดสินใจของมนุษย์ แต่ทั้งนี้โจทย์หลักๆ ที่กองทุนประเภทดังกล่าวต้องตอบนักลงทุนให้ได้นั่นก็คือ เป้าหมายหรือผลลัพธ์ในการลงทุนที่ได้สัญญากันไว้ตั้งแต่เริ่มจัดตั้งกองทุนนั้นเองต่างหาก เพราะถ้าหากไม่ได้เทคโนโลยีต่างๆ ก็จะกลายเป็นเพียง Gimmick ในการขายกองทุนเท่านั้นเอง

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook