SME ควรรู้! 4 พฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทยปี 2018
BCG’s Center ได้สำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคไทยจำนวน 4,000 คนที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป และสรุปออกมาเป็น 4 พฤติกรรมที่ผู้ประกอบการ SME ควรรู้ไว้ เผื่อเป็นประโยชน์สำหรับธุรกิจในอนาคต
สินค้าสนอง Need และประสบการณ์เติบโตมากที่สุด
ในช่วงที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคไทยยังคงมีกำลังซื้อและจับจ่ายใช้สอยสินค้าเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มสินค้าที่ตอบสนองความต้องการส่วนบุคคล เช่น ขนมหวาน เค้ก ช็อกโกแลต ขนมขบเคี้ยว เพิ่มขึ้น 10 – 15% ในกลุ่มประชากรทั่วไปและกลุ่มที่มีกำลังซื้อ
อีกหนึ่งประเภทสินค้าที่โตขึ้นเช่นกันคือกลุ่ม Frozen Food แม้ว่าประชากรบางกลุ่มมีรายได้เพิ่มขึ้นแต่ก็มักจะเลือกใช้จ่ายไปกับสินค้าและบริการที่ช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ เช่น การรับประทานอาหารนอกบ้าน การท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ ไปจนถึงการเลือกซื้อสินค้า Luxury ในกลุ่มนาฬิกา เครื่องประดับ
ผู้บริโภคไทยจะรักในแบรนด์มากขึ้น
แม้ว่าผู้บริโภคใน Southeast Asia จะมีการให้ความสำคัญกับเรื่องของราคาสินค้าและพร้อมจะเปลี่ยนแบรนด์ได้ตลอดเวลา ถ้าแบรนด์มีราคาที่ถูกกว่าหรือมอบโปรโมชั่นที่ดีกว่าให้พวกเขา แต่สำหรับผู้บริโภคชาวไทยมักจะมีความจงรักภักดีต่อแบรนด์มากกว่าผู้บริโภคประเทศอื่นใน Southeast Asia พวกเขาเต็มใจที่จะจ่ายมากกว่าถ้าหากว่าแบรนด์ดีจริง
โดย 75% ของผู้บริโภคไทยเห็นตรงกันว่า “เวลาที่ได้เห็นแบรนด์ในดวงใจออกสินค้าใหม่หรือมีอะไรน่าซื้อ ฉันก็พร้อมจะจ่ายเงิน” ส่วนผู้บริโภคชาวฟิลิปปินส์เห็นด้วยกับข้อความนี้แค่ 39% และชาวเวียดนามแค่ 40% เท่านั้น นอกจากนี้ผู้บริโภคชาวไทยจะยังคงมีความรู้สึกจงรักภักดีกับแบรนด์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ธุรกิจต่างๆ คงต้องหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์อย่างจริงจังพร้อมทั้งศึกษากลุ่มเป้าหมายว่าพวกเขาต้องการอะไรจากคุณกันแน่
สาวไทยคือผู้ทรงอิทธิพลในการจ่ายเงิน
สำหรับประเทศไทย ในครัวเรือนต่างๆ อำนาจทางการเงินส่วนใหญ่จะตกอยู่ที่ “ผู้หญิง” หรือแม้แต่สาวโสดเองก็ตามที่ยุคนี้พวกเขามีกำลังซื้อมากขึ้นและพร้อมจะปรนเปรอทำให้ตัวเองมีความสุขที่สุด โดยประเทศไทยมีจำนวนสาวโสดที่มากที่สุดในเอเชียประมาณ 31% เมื่อเทียบกับ อินโดนีเซียที่มีสาวโสด 26% และเวียดนามที่มีสาวโสด 23%
นอกจากนี้สาวๆ ในยุคนี้ยังมีความมั่นใจในตัวเอง พร้อมที่จะจับจ่ายใช้สอย ซื้อสินค้าที่ทำให้พวกเขาดูดี มีความมั่นใจมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการจับจ่ายใช้สอยในโลกออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้หญิงไทยตัดสินใจซื้อของในออนไลน์ 29% ในปี 2560 ซึ่งโตจากปี 2556 ที่ผู้หญิงไทยซื้อของออนไลน์แค่ 18% เท่านั้น
คนไทยนิยมจับจ่ายผ่าน Social Media
หลังจากที่ E-Commerce เติบโตอย่างต่อเนื่อง มีแพลตฟอร์มขายของบนโลกออนไลน์มากขึ้นไม่ว่าจะเป็น Lazada, Kaidee และอีกมากมาย รวมทั้งคนไทยเองก็มีไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปจากเดิมคือมีการใช้เวลาบนอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ใช้สมาร์ทโฟนมากขึ้นจนทำให้ตลาด E-Commerce เป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพ
นอกจากนี้ Social Media Platform ก็มีการเพิ่มช่องทางในการขายให้แก่แบรนด์และพ่อค้าแม่ค้ามากขึ้น ตอนนี้ Social Media เลยเป็น Platform หลักในการผลักดันการเติบโตของ E-Commerce ไทยเลยทีเดียว
ยกตัวอย่างเช่นการซื้อของใน Facebook หรือ Instagram ที่มีผู้บริโภคไทยพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าสนุกดี เหมือนได้ซื้อของในตลาดทั่วไป ที่เป็นเช่นนั้นเพราะลูกค้าและคนขายสามารถมีปฏิสัมพันธ์ได้มากขึ้น ได้พูดคุยผ่านทางแชท รวมทั้งยังสามารถต่อราคาได้อีกด้วย