SCB ปิด 59 สาขาปีหน้า สะท้อนเทรนด์ Digital Banking มาแน่
เชื่อว่าวันนี้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยคงต้องผ่านตากับภาพที่มีการส่งต่อเกี่ยวกับการปิดสาขาของธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB ในปีหน้าจำนวน 59 สาขา ทำให้การวิเคราะห์ที่มีมาก่อนหน้านี้ว่า ธุรกิจการเงิน การธนาคาร กำลังจะถูก 'Disrupt' มีเค้าลางความเป็นจริงมากขึ้น
SCB ปิด 59 สาขาปีหน้า
จากภาพที่มีการเผยแพร่ในโลกออนไลน์ พบว่า สาขาที่มีแผนจะปิดการให้บริการ จะมีตั้งแต่ธนาคารทั่วไป ไปจนถึงศูนย์ธุรกิจเอสเอ็มอี (SME) และสาขาธนบดีธนกิจ ที่เป็นการให้บริการลูกค้าของธนาคารในรูปแบบ Private Bank
ทั้งนี้เมื่อดูข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ระบุว่า ตั้งแต่เดือนกันยายน 59-กันยายน 60 มีธนาคารพาณิชย์แจ้งปิดรวม 192 สาขา โดย 5 อันดับแรก ที่มีการปิดสาขามากที่สุด คือ กรุงไทย 79 สาขา, กสิกรไทย 73 สาขา, ธนชาต 69 สาขา, ทหารไทย 20 สาขา, ไทยพาณิชย์ และซีไอเอ็มบี ไทย 9 สาขา
อ่านเพิ่มเติม: ใกล้อวสาน! ธนาคารแห่ปิดสาขา ก้าวสู่ดิจิทัลแบงก์กิ้ง
ดิจิทัล 'DISRUPT' ธุรกิจการเงิน การธนาคาร
สาเหตุและความเป็นไปได้ที่ทำให้ธนาคารไทยพาณิชย์ ตัดสินใจปิดสาขาลง เป็นไปได้ว่า ทางธนาคารจำต้องปรับตัวให้เข้ากับรสนิยม และการใช้บริการธนาคารของคนในยุคปัจจุบันมากขึ้น
พูดถึงความนิยมในอินเทอร์เน็ตแบงก์กิ้ง คนที่เคยใช้งานสามารถจินตนาการได้ว่า ธุรกรรมทางการเงินบนสมาร์ทโฟนจะสามารถอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าของธนาคารได้ทุกที่ ตลอด 24 ชั่วโมง และที่สำคัญแอปพลิเคชันธนาคารบนสมาร์ทโฟนนั้น นับวันก็รองรับฟีเจอร์ที่มีความสลับซับซ้อนได้มากยิ่งขึ้น
ยกตัวอย่าง แอปพลิเคชัน SCB Easy ของธนาคารไทยพาณิชย์เอง ก็จะเห็นได้ชัดเจนอยู่แล้วว่า ภายในแอปพลิเคชันรองรับทั้งการจ่ายบิลค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต การโอนเงินไปยังบุคคลที่สอง ไปจนถึงการซื้อ-ขาย-สลับกองทุนรวม ก็สามารถทำได้จบในแอปพลิเคชันเดียว ทำให้ความสำคัญของธนาคารรูปแบบเดิม ถูกลดทอนความสำคัญลงไป เพราะผู้คนสามารถเข้าถึง 'ธนาคาร' ผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนได้โดยตรงนั่นเอง
พร้อมกันนี้ ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ไม่ได้มีแค่ธนาคารไทยพาณิชย์เพียงรายเดียวที่มีการปรับปรุงหน้าแอปพลิเคชัน ธนาคารอื่นๆ อย่างธนาคารกรุงศรีอยุธยา ก็มีการปรับหน้าแอปพลิเคชันใหม่เช่นกัน ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า การปิดสาขาของธนาคารล้วนเกิดจากองคาพยพที่เกิดขึ้นเป็นลูกโซ่ โดยเริ่มจากเทคโนโลยี มนุษย์ ไลฟ์สไตล์ กระทั่งมาถึงธนาคาร ที่จำต้องปรับให้เข้ากับยุคสมัยที่กำลังเปลี่ยนผ่าน
พนักงานแบงก์ไปไหนต่อ?
ในส่วนนี้เป็นการคาดเดาของผู้เขียน มีความเป็นไปได้ว่า พนักงานธนาคารเดิม อาจถูกโยกย้ายตำแหน่ง โดยเฉพาะในกลุ่มพนักงานที่มีความสามารถในด้านดิจิทัล ก็มีโอกาสไปทำในสายงานที่เกี่ยวกับด้านเทคโนโลยีการเงิน หรือฟินเทค (FinTech) ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารไทยพาณิชย์ก็มีหน่วยธุรกิจที่ตั้งขึ้นใหม่เพื่อรับกับการแข่งขันในกลุ่มฟินเทค
เพราะหากว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่ธนาคารแบบดั้งเดิมหวาดกลัวที่สุด ก็คือ การมาของกลุ่มฟินเทคนี่แหละ เนื่องจากว่า ธุรกิจในกลุ่มบริษัทฟินเทคถือได้ว่าเป็นคู่แข่งโดยตรงกับธนาคาร โดยบริษัทฟินเทคจะมีโซลูชันที่คอยให้บริการจัดการทางการเงินทั้งกับบุคคลทั่วไปและภาคธุรกิจ อีกทั้งบริษัทในกลุ่มฟินเทคยังสามารถเป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านการเงิน พร้อมกับมีค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่า เรียกได้ว่า Disrupt ธุรกิจธนาคารเต็มๆ