ไฟแนนเชียล ไทมส์ ไม่เชื่อ 'สมาร์ทซิตี้' เป็นเมืองสำหรับประชากรในอนาคต

ไฟแนนเชียล ไทมส์ ไม่เชื่อ 'สมาร์ทซิตี้' เป็นเมืองสำหรับประชากรในอนาคต

ไฟแนนเชียล ไทมส์ ไม่เชื่อ 'สมาร์ทซิตี้' เป็นเมืองสำหรับประชากรในอนาคต
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไฟแนนเชียล ไทมส์ เห็นต่างไม่เชื่อว่าสมาร์ท ซิตี้ เป็นความต้องการที่จริงแท้ของมนุษย์ แม้หลายฝ่ายเชื่อว่ามันจะเป็นเทรนด์ที่กำลังมาก็ตาม

เว็บไซต์ไฟแนนเชียล ไทมส์ เผยแพร่บทวิเคราะห์ "สมาร์ทซิตี้ อาจไม่ใช่ไอเดียที่ฉลาดนัก" (Smart cities might not be such a bright idea) ซึ่งเสนอว่า แม้ในปัจจุบันแนวคิดเรื่อง 'สมาร์ทซิตี้้' หรือ 'เมืองอัจฉริยะ' ที่เน้นการเชื่อมต่ออย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ระบบคมนาคมขนส่ง การรับส่งข้อมูลข่าวสาร รวมไปถึงเมืองแห่งรถยนต์ไร้คนขับ กำลังกลายเป็นโมเดลต้นแบบสำหรับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในหลายประเทศ 

โดยไฟแนนเชียล ไทมส์ วิเคราะห์ว่า 'สมาร์ทซิตี้้' อาจไม่ใช่โมเดลการพัฒนาเมืองที่ดีนัก เพราะแนวคิดนี้ไม่มีพื้นที่สำหรับ 'คนจน' หรือแม้แต่ 'ความเป็นชุมชน' สักเท่าไรนัก

อ่านเพิ่มเติม: บิล เกตส์ ทุ่มเงิน 80 ล้านดอลลาร์ เนรมิตเมืองอัจฉริยะ

ไฟแนนเชียล ไทมส์ อธิบายเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ขาดหายไปจากแนวคิดสมาร์ทซิตี้ คือ กลุ่มประชากรที่หลากหลายฐานะที่อาศัยอยู่ในเมืองปัจจุบัน บ้านพักสวัสดิการของรัฐหรือบ้านพักเอื้ออาทร หรือแม้แต่อาหารข้างทาง นั่นเป็นเพราะแนวคิดเบื้องหลังสมาร์ทซิตี้้ คือ การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและการเชื่อมต่อมาช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถบริหารจัดการเมืองได้อย่างรวดเร็วและราบรื่น

ยกตัวอย่างเช่น การปรับเส้นเลนสำหรับรถยนต์ก็สามารถทำได้ทันที เมื่อปริมาณรถยนต์บนท้องถนนเพิ่มขึ้น หรือการมีไฟจราจรอัจฉริยะที่สามารถปิดการทำงานได้โดยอัตโนมัติ หากขณะนั้นไม่มีรถยนต์บนท้องถนน ในแง่นี้ กลุ่มคนจน ขอทาน สัตว์เร่ร่อน หรือแม้แต่อาหารข้างทางจึงถูกมองว่าเป็นส่วนเกินและอุปสรรคสำหรับสมาร์ทซิตี้้

ทั้งนี้มีการยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดียที่วางแผนสร้างสมาร์ทซิตี้้กว่า 100 แห่งภายในปี 2020 เพราะแม้ปัจจุบันอัตราการขยายตัวของประชากรในอินเดียจะสูงมาก จนรัฐบาลอินเดียวางแผนสร้างสมาร์ทซิตี้้เพื่อรองรับต่อการขยายตัวเหล่านี้ แต่ไฟแนนเชียล ไทมส์ตั้งข้อสังเกตว่า แม้รัฐบาลอินเดียจะสร้างสมาร์ทซิตี้้ขึ้นจริง ก็อาจไม่สามารถดึงดูดประชากรจากเขตชนบทที่มีรายได้และการศึกษาไม่มาก อย่างชาวประมงหรือเกษตรกรได้ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ล้วนมีวิถีชีวิตเป็นของตนเอง ดังตัวอย่างที่ชาวอินเดียเห็นจนชินตา คือ ตามถนนสายต่างๆ ทั้งในเมืองและเขตชนบทมักจะมีฝูงวัวออกมาเดินเป็นประจำ แต่แนวคิดในการสร้างสมาร์ทซิตี้้กลับไม่มีพื้นที่สำหรับฝูงวัว หรือแม้แต่วิถีชีวิตดั้งเดิมของพวกเขา

ด้วยเหตุนี้ ไฟแนนเชียล ไทมส์จึงเสนอว่า สิ่งสำคัญที่นักวางผังเมืองต้องตระหนักถึง อาจไม่ใช่แนวคิดเรื่องของการเชื่อมต่อ ระบบเทคโนโลยี การส่งข้อมูลที่รวดเร็วและทันสมัย หากแต่ต้องสำรวจว่า ความต้องการที่แท้จริงของผู้คนคืออะไร แล้วออกแบบเมืองเพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านั้น ซึ่งนักวางผังเมืองต้องสนใจศึกษารูปแบบเมืองและชุมชนเก่า อันประกอบด้วยกลุ่มคนที่หลากหลายที่ค่อยๆ ขยายตัวตามธรรมชาติอย่างกรุงลอนดอนของอังกฤษ หรือกรุงนิวเดลีของอินเดีย ที่นอกจากจะเป็นเมืองที่คนจนและคนรวยสามารถอยู่ร่วมกันได้แล้ว มันยังเต็มไปด้วยเครือข่ายของความเป็นชุมชน ศูนย์กลางกิจกรรมต่างๆ และวิถีชีวิตของผู้คนที่เชื่อมต่อถึงกันและกันอีกด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook