5 เทรนด์การเงินที่น่าจับตามองในปี 2018
ปี 2017 ที่กำลังจะล่วงเลย ไปแล้วก็จริง แต่ถึงกระนั้นเทรนด์ต่างๆ ของโลกการเงินกำลังจะเกิดขึ้น โดยในปี 2018 ยังคงเป็นอีกปีหนึ่งที่น่าจับตามอง และน่าสนใจมากๆ เนื่องจากโลกการเงินกำลังจะถูก ‘Disrupt’ โดยเทคโนโลยี ทำให้สิ่งที่เราคุ้นเคยในวันนี้ อาจไม่มีอีกต่อไปแล้วในวันพรุ่งนี้
- Digital Banking
ข่าวการปิดตัวลงของสาขาธนาคารพาณิชย์ไทยกว่า 200 สาขา น่าจะเป็นสิ่งที่ยืนยันชัดเจนแล้วว่า แวดวงธนาคารกำลังถูกรุกคืบอย่างหนักด้วยเทคโนโลยี เนื่องจากผู้คนในยุคปัจจุบันแทบไม่เหลือความจำเป็นในการเข้าไปใช้บริการสาขาของธนาคารน้อยลง
ทั้งหมดนี้ Digital Banking ที่อยู่ในรูปแบบแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน และคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล สามารถใช้งานฟังก์ชันธนาคารได้แบบเดียวกับการให้บริการของธนาคารสาขาได้อย่างไร้รอยต่อ กอปรกับผู้คนในยุคปัจจุบันมีความคุ้นชินกับการทำธุรกรรมการเงินแบบดิจิทัลเรียบร้อยแล้ว นั่นจึงทำให้ธนาคารสาขาจะเป็นสิ่งที่แปลกหูแปลกตาในอนาคตอันใกล้
- เกิดความร่วมมือระหว่างธนาคารและกลุ่มฟินเทค (FINTECH) มากขึ้น
เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ‘สตาร์ทอัป’ ไม่ได้ Disrupt วงการเทคโนโลยีเท่านั้น แต่สตาร์ทอัปยังสามารถ Disrupt วงการอื่นๆ ได้อีกมากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ แวดวงการเงิน
การเกิดสตาร์ทอัปในกลุ่มแวดวงการเงินนั้น ถูกเรียกขานกันว่า ฟินเทค หรือย่อมาจากไฟแนนเชียล เทคโนโลยี ซึ่งหากพูดกันแบบตรงไปตรงมา ไม่มีอ้อมค้อม ฟินเทคนี่แหละ คือ สิ่งที่จะเข้ามาทำลายรากฐานเดิมของการธนาคารแบบที่เรารู้จักกันดี เนื่องจากสิ่งที่ธนาคารทั้งหมดทำได้ สามารถถูกแทนที่ได้ด้วยฟินเทค อีกทั้งอัตราค่าบริการ ค่าธรรมเนียมต่างๆ ของฝั่งฟินเทค จะมีราคาค่างวดที่ถูกกว่ากันมาก
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าบรรดาผู้ประกอบการธนาคารพาณิชย์ทั้งหลาย ‘จะรู้ตัว’ ว่าฟินเทค สามารถทำลายล้างรากฐานเดิมของธุรกิจธนาคารได้ เราจึงมีโอกาสที่จะได้เห็นธุรกิจธนาคารเดิมเข้าไปถือหุ้น หรือให้การสนับสนุนทางการเงินแก่กลุ่มฟินเทค ซึ่งในท้ายที่สุดตรงนี้ก็อาจเป็นการร่วมมือกันทางธุรกิจที่ลงตัวก็เป็นได้ เนื่องจากฝั่งธนาคารเองก็แสดงให้เห็นว่าปรับตัวเข้าหาโลกยุคดิจิทัลได้ทัน เช่นเดียวกันฝั่งฟินเทคเองก็จะได้รับความไว้วางใจและความน่าเชื่อถือ ที่มีพื้นฐานจากธุรกิจธนาคารดั้งเดิมเป็นคนการันตี
- สังคมไร้เงินสด (Cashless Society)
เชื่อว่าประเด็นนี้เป็นสิ่งที่นักช็อปชาวไทย เริ่มมีความเข้าใจมากขึ้นว่า สังคมไร้เงินสดเป็นแนวโน้มที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้จริงมากขึ้นทุกๆ วัน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ใช้งานสมาร์ทโฟน หรือมีความเข้าใจเทคโนโลยีเป็นอย่างดีว่า สังคมไร้เงินสดกำลังจะมาเป็นเทรนด์หลักของการ ‘จับจ่ายใช้เงิน’ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ชอบการสั่งสินค้าออนไลน์ ที่จะใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต
พร้อมกันนี้การสนับสนุนของรัฐบาล ที่ผลักดันนโยบาย ‘PromptPay’ ซึ่งตรงนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ชัดเจนแล้วว่า แม้แต่ภาครัฐบาลยังเล็งเห็นว่า สังคมไร้เงินสดเป็นสิ่งที่น่าสนับสนุน และน่าผลักดันให้เกิดขึ้นจริง
สำหรับหลายคนที่สงสัยว่า สังคมไร้เงินสดมันดีอย่างไร สามารถสรุปให้เข้าใจอย่างง่าย นั่นคือ การลดการใช้เงินสดจะส่งผลในด้านความสะดวกสบายของคนทั่วไป ทำให้ไม่จำเป็นต้องพกพาเงินสดมากมาย อีกทั้งยังมีความปลอดภัยจากการถูกฉกชิงวิ่งราวซึ่งหน้า
นอกเหนือจากนี้ การงดใช้เงินสด ยังเป็นอีกวิธีการหนึ่งในการต่อต้านคอร์รัปชันและการเลี่ยงภาษีได้เช่นกัน รวมถึงยังช่วยลดงบประมาณในการจัดพิมพ์ธนบัตร ซึ่งการจัดพิมพ์ธนบัตรสักครั้งหนึ่ง ต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนไม่น้อย นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลแต่ละประเทศสนับสนุนการเข้าสู่สังคมไร้เงินสดนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่สังคมไร้เงินสด เราไม่อาจมองแต่ด้านดีที่สวยงามได้เพียงอย่างเดียว เพราะในความเป็นจริงแล้ว สังคมไร้เงินสดก็ยังมีข้อเสียที่ต้องระวังเช่นกัน นั่นคือการฉ้อโกง ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ผู้มีอำนาจเกี่ยวข้อง ต้องออกแบบการป้องกันเพื่อลดช่องโหว่ให้เกิดการฉ้อโกงน้อยที่สุด
- Bitcoin และสกุลเงินดิจิทัล อนาคตยังเป็นเครื่องหมายคำถาม
การที่สกุลเงินดิจิทัลยอดนิยมอย่างบิตคอยน์ ที่ในปี 2017 ทำสถิติใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งเชื่อได้ว่าในปี 2018 บิตคอยน์และสกุลเงินดิจิทัลจะยังคงเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่มีความสำคัญในแวดวงการเงิน
ทั้งนี้ตลาดฟิวเจอร์ส ในต่างประเทศเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับสกุลเงินดิจิทัลมากขึ้น ส่งผลให้ราคาของบิตคอยน์และสกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ จะมีแนวโน้มถีบตัวสูงขึ้นต่อไป และจะยังคงมีนักลงทุนที่สนใจเข้ามาระดมทุนซื้อบิตคอยน์ทั้งในส่วนที่เก็งกำไร และต้องการถือครองเพื่อดูทิศทางความเป็นไปในอนาคตของสกุลเงินดิจิทัลทั้งหลาย
อย่างไรก็ดี ในปี 2018 บิตคอยน์และทุกสกุลเงินดิจิทัล ก็จะถูกตั้งเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่ๆ โดยเฉพาะในเรื่องของ ‘ฟองสบู่’ ซึ่งถึงที่สุดแล้ว เราก็คงไม่มีวันทราบหรอกครับว่า สกุลเงินดิจิทัลต้องมีมูลค่าเท่าใดถึงจะเรียกว่าฟองสบู่ เนื่องจากสกุลเงินดิจิทัล เรามีข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์น้อยมากๆ เรียกว่าถ้าจะเข้าลงทุนสกุลเงินดิจิทัลในชั่วโมงนี้ นอกจากจะต้องมีเงินแล้ว ยังต้อง ‘ใจถึง’ อีกด้วย
- แวดวงการเงินก็มี Machine Learning
เทรนด์ที่น่าจับตามองอย่างสุดท้าย นั่นคือ เรื่องของ Machine Learning แน่นอนที่สุดถ้าหากคุณติดตามแวดวงเทคโนโลยี หรือสมาร์ทโฟน ก็คงทราบดีกันว่า สองแวดวงนี้มีการพูดถึงเรื่องนี้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในปี 2017 ที่กำลังจะผ่านพ้นไป บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ อาทิ แอปเปิล ซัมซุง และหัวเว่ย เริ่มมีการนำ Machine Learning บรรจุลงในสมาร์ทโฟนของตัวเอง
อย่างไรก็ตามเรื่องราวของ Machine Learning ไม่ได้ถูกขังกรอบไว้เฉพาะโลกเทคโนโลยีและสมาร์ทโฟนเท่านั้น แต่กลับปรากฏตัวขึ้นในแวดวงการเงินอีกด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งนำ Machine Learning เข้ามาใช้ในการคำนวณ จัดสรร เพื่อให้คำแนะนำในการลงทุนแก่นักลงทุน โดย Machine Learning จะประเมินจากเงื่อนไขและความพร้อมของนักลงทุนรายนั้นๆ จนสามารถสร้างการลงทุนที่เหมาะสมแก่นักลงทุนเป็นรายบุคคล
สรุป
ในปี 2018 ที่กำลังจะมาถึง เป็นปีที่สะท้อนให้เห็นว่า ดิจิทัลทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญในแวดวงการเงิน ทั้งจากโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี ไปจนถึงผู้ใช้บริการเอง เรียกได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ต้นทางยันปลายทาง แต่ดูเหมือนว่า ฝ่ายธุรกิจธนาคารดั้งเดิม ก็ดูจะเป็นฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงมากที่สุด