ระวังแบงก์จะสูญพันธุ์ ถ้าไม่ปกป้องเจ้าของบัญชีผู้บริสุทธิ์
เห็นข่าวที่ผู้หญิงคนหนึ่งบัตรประชาชนหาย แล้วถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์นำไปสวมรอยเปิดบัญชีจำนวน 9 บัญชี กับธนาคาร 7 แห่ง แล้วน่ากังวลมาก ๆ
ใครอยากอ่านข่าวเรื่องนี้อีกรอบ เชิญที่นี่ สาวทำบัตรประชาชนหาย ถูกสวมรอยเปิดบัญชี-ฉ้อโกง
ที่น่ากังวลเพราะข้อมูลล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เพิ่งอัปเดตวันนี้ (10 ม.ค.) ระบุว่าบ้านเรามีบัญชีเงินฝากทุกประเภทรวมทั้งหมดกว่า 95 ล้านบัญชี รวมมูลค่าเงินฝากทั้งสิ้น 12 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นบัญชีที่มียอดเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท อยู่ราว 93.6 ล้านบัญชี หรือคิดเป็นสัดส่วน 98.5% ของบัญชีเงินฝากทั้งประเทศ
ถ้าจะเทียบให้เห็นภาพง่าย ๆ จากประชากรทั้งประเทศ 68.8 ล้านคน เป็นไปได้สูงมากที่คนไทยอย่างน้อย 40 ล้านคน ที่เป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากที่มียอดเงินไม่เกินล้าน
การที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างแบงก์ชาติซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลด้านการเงินของประเทศมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อกรณีหญิงสาววัย 24 ผู้เคราะห์ร้ายคนนี้ว่า แบงก์พาณิชย์มีหน้าที่ปฏิบัติตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับ การต้องทำความรู้จักลูกค้า (Know Your Customer) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของมาตรการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย เพียงพอหรือไม่
หรือแม้แต่บรรดาแบงก์พาณิชย์ที่เห็นได้ชัดว่ามีกระบวนการทำงานที่ไม่รัดกุมเพียงพอ จนปล่อยให้ผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของบัตรประชาชนตัวจริงสามารถมาเปิดบัญชีธนาคารได้ จะแสดงความรับผิดชอบอย่างไร
คำถามที่ผู้เกี่ยวข้องกับระบบการเงินของเมืองไทยควรต้องหาคำตอบคือ ปัจจุบันความปลอดภัยในทรัพย์สินเงินทองที่ประชาชนผู้ใช้บริการนำไปพึ่งพากับธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ นั้น ยังคงไว้วางใจได้อยู่หรือไม่ เพราะเมื่อวันสิ้นปีก็เพิ่งเกิดกรณีพร้อมเพย์ล่ม
รวมทั้งความปลอดภัยต่อการถูกมิจฉาชีพสวมรอยมาเปิดบัญชีแล้วนำไปก่ออาชญากรรมแบบกรณีนี้หรือกรณีอื่น ๆ ยังสามารถเชื่อถือหรือไว้วางใจต่อระบบสถาบันการเงินทั้งระบบได้หรือไม่
อย่าลืมว่ายุคนี้กำลังเป็นยุคทองของระบบเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต หากมีธุรกิจหน้าใหม่หรือสตาร์ทอัปที่ใช้ความเชี่ยวชาญด้านการเงินแบบที่เราเรียกกันติดปากว่าฟินเทค เห็นโอกาสตรงนี้แล้วนำเสนอบริการที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ต่อผู้ใช้บริการ
เมื่อถึงวันนั้นอาจจะไม่เหลือธนาคารพาณิชย์ไว้ให้คนทั่วไปใช้ฝาก ถอน โอน จ่าย แล้วก็ได้