10 ข้อควรรู้ เมื่อรัฐเตรียมโขกค่ารถเมล์เพิ่ม
ภาครัฐกำลังมีแนวคิดปรับขึ้นค่าโดยสารรถเมล์ โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างประสานเสียงไปในทิศทางเดียวกันคือไฟเขียวให้มีการปรับขึ้นค่าโดยสารได้ ไม่ว่าจะเป็นนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคมที่กำกับดูแล นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานบอร์ด ขสมก. และนายวีระพงษ์ วงแหวน ประธานสหภาพแรงงาน ขสมก. โดยให้เหตุผลว่าเพื่อหวังลดปัญหาการขาดทุนสะสมขององค์กร
และหากพิจารณาจากกระแสข่าวที่เกิดขึ้น จะเห็นว่าทุกอย่างดูสอดรับกันอย่างลงตัว ทั้งข่าวการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นเมื่อฟังจากคนในรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น นายจรินทร์ จักกะพาก ปลัดกระทรวงแรงงาน ที่ระบุว่าปีนี้จะปรับขึ้นอย่างแน่นอน แต่ต้องทำให้เกิดความสมดุลทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง โดยนัดสรุปหาความลงตัวในวันที่ 17 ม.ค.นี้
ยังไม่รวมถึงมาตรการในการให้ความช่วยเหลือต่อผู้มีรายได้น้อย เฟส 2 รวม 34 โครงการ มูลค่ากว่า 3.5 หมื่นล้านบาท ที่ออกมาในเวลาไล่เรี่ยกัน จะด้วยเหตุบังเอิญหรืออะไรก็สุดแล้วแต่จะคิด
แต่ถึงกระนั้นการปรับขึ้นค่าโดยสาร ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์หรือบริการสาธารณะอื่นใดก็ตาม นอกจากจะต้องคำนึงถึงประชาชนแล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงคือเรื่องของมาตรฐานความปลอดภัยทั้งในเรื่องของรถโดยสารหรือแม้แต่พนักงานขับรถ รวมถึงการให้บริการที่ต้องยอมรับว่า ณ ขณะนี้ยังไม่ได้ดีขึ้นสักเท่าใดนัก เชื่อว่าเรื่องนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องน่าจะรู้ดีกว่าใคร ๆ ทั้งหมด
และที่สำคัญเมื่อไปดูถึงสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ที่ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เครือข่ายลดอุบัติเหตุ และภาคีต่าง ๆ ได้ร่วมกันยกร่างไว้ซึ่งมีด้วยกัน 10 ประการได้แก่
1. สิทธิ ที่จะได้รับข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพเกี่ยวกับบริการรถโดยสาร รวมทั้งความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ถูกต้องเป็นจริงและครบถ้วน
2. สิทธิ ที่จะได้รับความเป็นธรรมในด้านสัญญาและราคาค่าบริการ
3. สิทธิ ในการเลือกใช้บริการรถโดยสารด้วยความสมัครใจและปราศจากการชักจูงอันไม่เป็นธรรม
4. สิทธิ ที่จะได้รับความปลอดภัยในทุก ๆ ด้านจากการใช้บริการรถโดยสาร
5. สิทธิ ที่จะได้รับการบริการจากรถโดยสารและผู้ให้บริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน
6. สิทธิ ในการร้องเรียนหรือฟ้องร้องเพื่อให้ผู้ให้บริการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหา เยียวยา หรือชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น
7. สิทธิ ที่จะได้รับการชดใช้ความเสียหายทั้งทางร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน หรือสิทธิอื่น ๆ ที่ถูกละเมิด
8. สิทธิ ที่จะได้รับการชดใช้ความเสียหายจากการประกันภัยโดยไม่มีการประวิงเวลาหรือบังคับให้มีการประนีประนอมยอมความ
9. สิทธิ ที่จะได้รับการชดใช้ความเสียหายด้วยหลักแห่งพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด
10. สิทธิ ที่จะรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของตนและผู้อื่น
หวังว่าภาครัฐจะคิดถึงสิทธิต่าง ๆ เหล่านี้ควบคู่ไปกับการหาทางขึ้นค่าโดยสาร ผลักภาระให้ประชาชนร่วมรับผิดชอบกับการขาดทุนสะสมขององค์กร ซึ่งคงอยู่มาอย่างต่อเนื่องยาวนานและบางยุคสมัยที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้เกิดจากประชาชนผู้ใช้บริการ