สอนลูกแบบง่าย ๆ ให้ลงทุนเป็น
หนึ่งในเป้าหมายการลงทุนของนักลงทุนที่มีครอบครัวแล้ว ก็คือ วางแผนลงทุนเพื่อการศึกษาของลูก ๆ เรา วิธีก็คือไปดูว่าค่าเทอมของโรงเรียนที่เราอยากให้ลูกเข้าเรียน มันเทอมละเท่าไหร่ คูณจำนวนปีไป และบวกกับค่าใช้จ่ายในอนาคต
ง่ายกว่านั้น สำหรับพ่อแม่บางคน ก็ใช้วิธีการแบ่งเงินออมบางส่วนมาออมเพื่อลูกไปเลย เช่น 30% หรือ 50% ของเงินออม กันไว้ให้ลูกเราใช้ในอนาคต ยังไม่ต้องไปคิดถึงเป้าหมายว่าจะต้องใช้เงินเท่าไหร่จริง ๆ
ถามว่า สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่กำลังทำเพื่อลูกแบบนี้ ทำถูกต้องแล้วหรือเปล่า?
แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องที่ผิด และเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะการให้การศึกษาที่ดีที่สุดแก่ลูก คือ หน้าที่ของคนเป็นพ่อเป็นแม่อยู่แล้วครับ
แต่ถามว่า นี่คือ ครบทุกอย่างที่พ่อแม่จะให้ได้เกี่ยวกับการศึกษาหรือไม่
คำตอบ ในความเห็นของผมคือ “ไม่ใช่”
เพราะจากประสบการณ์ของคนรอบข้าง และการเข้าไปตามอ่านปัญหาการเงินในห้องสินธรหลาย ๆ กรณี พบว่าปัญหาการเงินเกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องด้านการเงิน
ดังนั้น อีกหน้าที่หนึ่งที่เราควรทำ ก็คือ การให้ความรู้ด้านการเงินอย่างถูกต้อง และต้องไม่ผลักภาระให้เป็นหน้าที่ของครูในโรงเรียน หรืออาจารย์ในมหาวิทยาลัย มันคือหน้าที่ของเรา คนที่รักลูกของเรามากที่สุดนั่นเอง
แล้วจะสอนลูกอย่างไรให้ลงทุนเป็น?
บทความนี้ขอเสนอวิธีโดยแบ่งเป็นระยะ ตามระดับการศึกษาของลูก ๆ ของเรานะครับ
ก่อนเข้าโรงเรียน จนถึงอนุบาล – หว่านเมล็ดพันธุ์แห่งองค์ความรู้
แน่นอนว่าเด็ก ๆ คงยังไม่เข้าใจว่าในแต่ละวัน เด็ก ๆ โตขึ้น สูงขึ้น เรียนรู้อะไรได้มากขึ้น ว่ามันเป็นเพราะอะไร คำตอบที่พอจะทำให้เขาเข้าใจได้ก็คือ “เวลา”
เมื่อเวลาผ่านไป เราจะโตขึ้น เรียนรู้มากขึ้น มีประสบการณ์สูงขึ้น ดังนั้นการให้เขาเรียนรู้เรื่อง “เวลา กับ การลงทุน” ในวัยนี้ เราสามารถปลูกฝังได้ทันที ยกตัวอย่างเช่น ไปหาเมล็ดพันธุ์พืชที่ดูแลง่าย ๆ อย่างถั่วงอกมาให้เขาลองปลูก ดูแล และรดน้ำต้นไม้ทุก ๆ วัน ให้เขาเฝ้าดูการเจริญเติบโตของต้นไม้ไปเรื่อย ๆ เขาจะเข้าใจได้ว่า หลายสิ่งในโลกนี้จำเป็นต้องให้เวลา ก่อนจะเก็บเกี่ยวจากมันได้
การลงทุนก็เช่นกัน มันคือการจ่ายเงินในวันนี้ เพื่อให้ออกดอกออกผลในอนาคตที่คุ้มค่า เมื่อเขาโตขึ้นมา เขาจะเห็นคุณค่ากับการให้เวลาสิ่งต่าง ๆ และรู้จักการรอคอย
ประถมวัย – เข้าใจที่มาของรายได้และผลลัพธ์ของการรอคอย
เด็กในวัยนี้ เขาซึมซับข้อมูลได้มากกว่าที่เราคิดนะครับ เขาสามารถเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้ และเป็นช่วงที่สนใจโลกในมุมที่กว้างออกไปกว่าเดิมมาก ๆ
เราสามารถให้เขาเรียนรู้ และเข้าใจข้อเท็จจริงของโลกใบนี้ในมุมธุรกิจแบบง่าย ๆ ก็ได้ครับ ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่เราพาเขาเข้าไปทานอาหารที่ร้าน McDonald's ก็ลองถามเขาดูครับว่า ถ้าร้านอาหารขายแต่เบอร์เกอร์หมูอย่างเดียว ไม่ขายเบอร์เกอร์ประเภทอื่น ไม่ขายน้ำ ไม่ขายไก่ทอด คิดว่าร้าน McDonald's จะเป็นอย่างไร
เชื่อผมเถอะครับว่า คำตอบที่คุณได้รับ อาจจะทำให้คุณตกใจว่า เด็กตัวเล็ก ๆ แค่นี้ ก็เข้าใจหลักการทำธุรกิจ และการกระจายความเสี่ยงแล้วว่าต้องขายหลายอย่าง ลูกค้าแต่ละคนชอบอาหารแตกต่างกัน อันนี้คือมุมหนึ่งที่คุณปลูกฝังลูกไว้แต่เนิ่น ๆ โดยเชื่อมโยงกับสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเรา
มัธยมต้น – ความสวยงามของดอกเบี้ยทบต้นและเงินเฟ้อ
ดอกเบี้ยทบต้น ไม่ใช่คณิตศาสตร์ที่ยากเกินไป เด็กในวัยนี้สามารถเข้าใจได้ไม่ยาก ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่สามารถคำนวณผลตอบแทนให้ลูก ๆ ของคุณเห็นได้ว่าในอดีตที่ผ่านมา ระหว่างสิ่งที่เขาอยากได้ กับ การเอาเงินไปลงทุน ผลลัพธ์ทางด้านตัวเลขจะแตกต่างกันอย่างไร เช่น เงินก้อนที่เราซื้อโทรศัพท์มือถือให้เขาเมื่อปีที่แล้ว ผ่านไปอีก 10 ปี มูลค่าจะเหลือเท่าไหร่ และเปรียบเทียบกับการนำเงินก้อนนี้ไปฝากธนาคารหรือลงทุนผ่านกองทุนรวม
ขั้นตอนสำคัญของเด็กวัยนี้ก็คือ อย่าชี้นำเขานะครับ ให้เขาคิดเอง เพราะเขาเริ่มคิดว่าเขาสามารถดูแลตัวเองได้แล้ว เขาโตแล้ว เราก็ต้องคอยมองอยู่ห่าง ๆ และให้ความเห็นให้ถูกที่ถูกทางในจังหวะที่เหมาะสม
มัธยมปลาย – เชื่อมโยงชีวิตประจำวันกับการลงทุน
ต้องยอมรับอย่างหนึ่งนะครับว่าเราอยู่ในสังคมวัตถุนิยม หยิบจับอะไรก็คิดเป็นเงินเป็นทองไปเสียหมด ดังนั้นนี่คือโอกาสในการเรียนรู้เรื่องการลงทุนที่ดีเลย เพราะสินค้าที่ขายดี สินค้าที่คนใช้เยอะ แปลว่าเจ้าของสินค้าก็มีกำไรเยอะมากขึ้น ตั้งคำถามสิครับ ถ้าเราเป็นเจ้าของสินค้าชนิดนั้น ๆ คงดีไม่น้อยเลย ลูกเรา พอได้เห็นภาพเบื้องหลังแบบนี้ เชื่อว่าก็อาจจะมีมุมมองที่ต่างออกไป ไม่ใช่แค่เป็นผู้บริโภคสินค้าเพียงอย่างเดียว
ลองให้เขามองภาพประเทศไทยในมุมกว้างขึ้นดูครับว่ามีแบรนด์สินค้าอะไรบ้างที่คนใช้เยอะ ๆ หรือเอาที่เขาใช้ในชีวิตประจำวันก็ได้ พอได้ก้อนความคิดมา ก็บอกเขาว่าสินค้าเหล่านี้ บริษัทเหล่านี้ อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ลูก ๆ สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นเจ้าของได้ ก็ด้วยคำว่า “ลงทุน”
เด็กสมัยนี้มีทักษะในการหาข้อมูลสูงครับ ถ้าเขาสนใจและเข้าใจในสิ่งที่เราสื่อสาร เขาจะสามารถต่อยอดได้เองแน่นอน
สรุปแนวคิด
แนวทางในบทความนี้ตั้งอยู่บนแนวคิดและความเชื่อส่วนตัวของผมว่า การให้ใครสักคนรู้จักเรื่องการลงทุน มันไม่ใช่การโยนหนังสือให้เขาอ่านหลาย ๆ เล่ม หรือการให้กระโดดลงสนามแล้วไปเรียนรู้เองโดยไม่เต็มใจ แต่คือการซึมซับวิธีคิดอย่างถูกต้องตั้งแต่วัยเด็ก การเรียนรู้และเข้าใจการลงทุนอย่างถูกต้องในระยะเวลาที่มากพอครับ
ยิ่งเราเริ่มต้นได้เร็ว เขาซึมซับได้เร็ว ก็เท่ากับเราให้ของขวัญที่มีค่ามากกว่าแค่เก็บเงินให้เขา แล้วเอาไปใช้แบบผิดวิธีนะครับ
ส่วนถ้าใครยังอยากอ่านแนวคิดการลงทุนเพิ่มเติมอย่างเช่นบทความนี้ มีเงินให้ลงทุน 1,000 บาทต่อเดือน ควรลงทุนอะไรดี หรือลองค้นหาบทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจได้จาก Sanook! Money