5 เหตุผลผลักดัน 'Bitcoin' มีมูลค่าถึง 100,000 ดอลลาร์

5 เหตุผลผลักดัน 'Bitcoin' มีมูลค่าถึง 100,000 ดอลลาร์

5 เหตุผลผลักดัน 'Bitcoin' มีมูลค่าถึง 100,000 ดอลลาร์
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปี 2017 ที่ผ่านพ้นไป นับว่าเป็นปีที่บิตคอยน์ (Bitcoin) พุ่งทะยานมากที่สุดนับตั้งแต่ถือกำเนิดเมื่อปี 2009 ส่วนในปี 2018 ประเด็นของบิตคอยน์คาดว่าจะยังคงเป็นหัวข้อที่ผู้คนจำนวนมากให้ความสนใจไม่ต่างจากปีก่อนอย่างแน่นอน โดยเฉพาะเรื่องการลงทุนในบิตคอยน์จนกระทั่งสามารถสร้างความมั่งคั่งให้กับนักลงทุน 

แน่นอนว่า นักลงทุนที่เทเงินลงในบิตคอยน์ ต่างก็ต้องการความเจริญงอกงามจากเม็ดเงินที่ลงทุนไป โดยเฉพาะการที่ต้นปี 2017 บิตคอยน์ยังมีมูลค่าเพียงแค่ 960 ดอลลาร์ต่อหนึ่งเหรียญบิตคอยน์ แต่เมื่อถึงวันสิ้นปีมูลค่าของบิตคอยน์กระโดดปิดรอบปีกว่า 13,850 ดอลลาร์ต่อบิตคอยน์ คิดเป็นอัตราการเติบโตมากกว่า 1,300% ซึ่งการลงทุนในโลกใบนี้ไม่มีทางเลยที่ลงทุนไปแล้ว จะได้ผลลัพธ์กลับมาเป็นหลักพันเปอร์เซ็นต์ 

นั่นจึงทำให้บิตคอยน์ถูกมองว่า มันเป็นฟองสบู่ดิจิทัลที่รอวันแตกแล้วร่วงหล่นลงสู่พื้น อย่างไรก็ดี ตอนนี้คงไม่มีใครสามารถบอกได้เช่นกันว่า เมื่อไหร่ที่บิตคอยน์จะเป็นฟองสบู่ ตรงกันข้ามก่อนหน้าที่ฟองสบู่บิตคอยน์เกิดรูรั่ว กระทั่งเกิดรอยแยกเป็นเศษชิ้นเล็กชิ้นน้อย ไม่แน่เหมือนกันว่า ด้วยเหตุผลหลักด้านอุปสงค์และอุปทาน อาจผลักดันให้บิตคอยน์มีโอกาสก้าวไปแตะหลัก 100,000 ดอลลาร์ต่อบิตคอยน์ได้เช่นกัน

แล้วอะไรคือ เหตุผลที่จะผลักดันให้บิตคอยน์มีมูลค่าสูงขนาดนั้นกันแน่?

อ่านเพิ่มเติม: 5 เทรนด์การเงินที่น่าจับตามองในปี 2018

บิตคอยน์มีจำนวนจำกัด

การจะได้มาซึ่งบิตคอยน์ ในเวลานี้อาจเรียกได้ว่ามีอยู่ 2 วิธีหลัก ๆ นั่นคือ 1. การขุดเหมืองบิตคอยน์ โดยใช้คอมพิวเตอร์ที่มีขุมพลังในการประมวลผลสูง หรือ 2. การนำเงินจริงที่ใช้จ่ายมาแลกเปลี่ยนเป็นสกุลเงินบิตคอยน์ 

อย่างไรก็ดี ความแตกต่างระหว่างสกุลเงินดิจิทัลกับสกุลเงินปกติที่ใช้โดยทั่วไปนั้น ระบบสกุลเงินที่เราใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน สามารถพิมพ์ขึ้นมาทดแทนได้เรื่อย ๆ แต่สกุลเงินดิจิทัล (ในที่นี้หมายถึงบิตคอยน์) กลับมีจำนวนจำกัด โดยเงินภายในระบบของบิตคอยน์ทั้งหมด มีการประเมินว่าประมาณ 21 ล้านบิตคอยน์ นั่นหมายความว่าจำนวนการเกิดของบิตคอยน์มีจำกัด เมื่อมันมีจำนวนจำกัด ราคาในการแลกเปลี่ยนบิตคอยน์ก็คงต้องแพงระยับเป็นเรื่องธรรมดา 

ส่วนสาเหตุที่จำนวนบิตคอยน์ถูกจำกัดไว้ที่ 21 ล้านบิตคอยน์ เป็นสิ่งที่ผู้สร้างบิตคอยน์ได้วางแนวทางไว้ก่อนล่วงหน้าแล้ว เป็นเพราะว่าต้องการหาทางป้องกันปัญหาอัตราเงินเฟ้อ โดยในทุก ๆ 4 ปี จำนวนบิตคอยน์ที่ถูกขุดออกมาจะมีจำนวนลดลงครึ่งหนึ่ง และด้วยความที่บิตคอยน์เป็นระบบปิด ทำให้ไม่มีใครสามารถ 'อัดฉีด' บิตคอยน์เข้าสู่ระบบเหมือนกับการที่รัฐบาลประเทศใดประเทศหนึ่งสั่งอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของประเทศนั่นเอง

กลัวตกขบวน

ปัจจุบันการลงทุนในตลาดหุ้น เราคงเห็นอยู่บ่อยครั้งที่นักลงทุนรายย่อยกลายเป็นแมลงเม่าบินเข้ากองไฟในการซื้อหุ้นที่มีความร้อนแรงสักตัวหนึ่ง ซึ่งกรณีของบิตคอยน์ก็ไม่แตกต่างกันนัก เนื่องจากยังมีนักลงทุนในบิตคอยน์จำนวนมาก ที่ไม่อยากตกขบวนจนทำให้เกิดเหตุการณ์ Lemming Effect ประหนึ่งว่า ถ้ามีใครสักคน (อาจจะเป็นเพื่อนหรือคนรู้จัก) ถือบิตคอยน์อยู่ ก็ทำให้นักลงทุนหน้าใหม่อยากลงทุนในบิตคอยน์ตามไปด้วย แต่จะรู้ตื้นลึกหนาบางเกี่ยวกับการลงทุนบิตคอยน์มากน้อยแค่ไหน อันนี้ก็น่าสงสัยอยู่เหมือนกัน 

โดยการลงทุนในลักษณะดังกล่าวอาจทำให้ราคาของบิตคอยน์ดันตัวขึ้นสูงนั่นเอง

ขาใหญ่ 'กักตุน' บิตคอยน์

ตามความเห็นส่วนตัว คิดว่าไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในตลาดหุ้นหรือบิตคอยน์ สิ่งที่มีเหมือน ๆ กัน คือเจ้ามือ ซึ่งการลงทุนในบิตคอยน์ ก็เชื่อได้ว่ามีเจ้ามือบิตคอยน์ที่มีบิตคอยน์อยู่ในมือจำนวนมาก ซึ่งเจ้ามือเหล่านี้ก็อาจเลือกที่จะกักตุนบิตคอยน์ไว้มือ จากนั้นก็อาจใช้วิธีการปั่นกระแสให้เกิดข่าว มีสตอรี่ เพื่อให้มูลค่าของบิตคอยน์ปรับตัวขึ้นสูงตามที่ต้องการ (แต่หลังจากนั้นจะเทขายบิตคอยน์เพื่อให้ราคาตกหรือไม่นั้น ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้เช่นกัน)

อ่านเพิ่มเติม: คู่แฝด Winklevoss มหาเศรษฐีพันล้านจาก Bitcoin คือใคร?

ความไม่มั่นใจในระบบการเงินแบบเดิม

การถือกำเนิดของบิตคอยน์ในปี 2009 มาพร้อมกับการล่มสลายทางการเงินในสหรัฐอเมริกา หรือที่รู้จักกันในชื่อของวิกฤตซับไพรม์ ทำให้สถาบันการเงินหลายต่อหลายแห่งเป็นอันต้องล้มละลาย นั่นจึงทำให้ผู้คนจำนวนมากสูญสิ้นศรัทธาในระบบทางการเงิน และหันไปหาระบบทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ไม่ต้องพึ่งพิงกับระบบธนาคารที่เป็นฝ่ายควบคุมกระแสเงินเข้าออก ไปจนถึงเป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ

ทั้งนี้อาจต้องกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า จุดเด่นอีกประการหนึ่งของบิตคอยน์ นั่นคือ เป็นสกุลเงินที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่สามารถเป็นค่าเงินกลาง ทั้งยังมีอิสระในตัวของมันเอง และไม่ถูกกำหนดโดยหน่วยงานรัฐ แต่จะขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานในระบบการเงิน อีกทั้งด้วยความที่บิตคอยน์ใช้เทคโนโลยีพื้นฐานของบล็อกเชน (Blockchain) ซึ่งมีรูปแบบการเก็บข้อมูลที่กระจายไปแต่บล็อก โดยไม่มีการเก็บข้อมูลหลักไว้ที่ศูนย์กลาง จึงถือว่ามีความเป็นส่วนตัวมากกว่าระบบการเงินแบบเดิม

ความน่าเชื่อถือ

ในข้อนี้ต้องบอกว่า สถานะล่าสุดของบิตคอยน์ยังไม่ได้รับการไว้เนื้อเชื่อใจมากนัก โดยเฉพาะในตลาดเอเชียที่ยังเฝ้าระวังและปราบปรามมากกว่ายอมรับการใช้งานเต็มที่ ขณะที่การยอมรับในตัวบิตคอยน์ในฝั่งตะวันตกดูจะเปิดประตูอ้าแขนต้อนรับบิตคอยน์เป็นอย่างดี 

ประเด็นนี้ เชื่อว่าเมื่อถึงจุดที่ผู้คนส่วนใหญ่ รวมถึงผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายให้การยอมรับในตัวบิตคอยน์ ก็น่าจะทำให้สกุลเงินดิจิทัลแพร่หลาย มีจำนวนยอดผู้ใช้งานเติบโต รวมถึงเกิดธุรกรรมการแลกเปลี่ยนอย่างเป็นอิสระในระบบ

อ่านเพิ่มเติม: รายงานภาพรวม ‘Bitcoin’ ในตลาดเอเชีย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook