กระตุ้นคนมีลูกเพิ่ม รัฐช่วยลดหย่อนภาษีแถมค่าฝากครรภ์-ทำคลอด
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการมีบุตร โดยอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร และ ร่างกฎกระทรวงออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
สาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลรัษฎากร คือ กำหนดให้ปรับเพิ่มค่าลดหย่อนบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายตั้งแต่คนที่ 2 เป็นต้นไปของผู้มีเงินได้ หรือของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ซึ่งเกิดตั้งแต่ปี 61 เป็นต้นไป โดยให้หักลดหย่อนได้เพิ่มอีก 30,000 ต่อคนต่อปีภาษี และให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี 61 ที่ต้องยื่นรายการในปี 62 เป็นต้นไป
ส่วนร่างกฎกระทรวงฯ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสสามารถนำค่าฝากครรภ์หรือค่าคลอดบุตรไปหักค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามจำนวนที่จ่ายจริงสำหรับการตั้งครรภ์แต่ละคราว แต่ไม่เกิน 60,000 บาท สำหรับค่าฝากครรภ์และค่าตลอดบุตรที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.61 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม สิทธิการหักลดหย่อนดังกล่าวให้เฉพาะผู้ที่ไม่ได้มีการเบิกค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์หรือคลอดบุตรจากแหล่งอื่น ๆ เช่น สิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการ เป็นต้น
มาตรการดังกล่าวเพื่อจูงใจให้คนไทยมีบุตรเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้มีรายได้และอยู่ในระบบภาษี พร้อมกับสนับสนุนให้บุตรได้รับการเลี้ยงดูและเติบโตอย่างมีคุณภาพซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในระยะยาว รวมทั้งเชื่อว่าน่าจะช่วยลดผลกระทบจากการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ขณะที่กระทรวงการคลังประเมินว่ามาตรการนี้จะส่งผลทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 2,500 ล้านบาท/ปี
นอกจากนี้ที่ประชุม ครม. ยังเห็นชอบการจัดทำงบกลางปีพิเศษเพิ่มเติมในงบประมาณประจำปี 61 วงเงิน 150,000 ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้เพิ่มขึ้นจากรัฐวิสาหกิจ 50,000 ล้านบาท นำส่งเข้าคลัง เพื่อนำไปใช้เรื่องบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และด้านต่าง ๆ ส่วนเงินกู้อีก 100,000 ล้านบาท ใช้เงินใน 3 ด้าน คือ
1. นำไปใช้ปฏิรูปประเทศโดยเฉพาะเศรษฐกิจระดับฐานราก การสร้างโอกาสทางอาชีพ จ่ายเงินเข้าบัตรสวัสดิการสำหรับผู้พัฒนาอาชีพ ในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเฟส 2 วงเงิน 35,000 ล้านบาท
2.การพัฒนาเชิงพื้นที่ การสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อพัฒนาอาชีพให้ผู้มีรายได้น้อย วิสาหกิจชุมชน การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เส้นทางท่องเที่ยวชุมชน วงเงิน 35,000 ล้านบาท
3. การปฏิรูปภาคการผลิต ลดต้นทุนภาคเกษตรกร สร้างมูลค่าเพิ่ม การสร้างตลาดสมัยใหม่ ผ่านความร่วมมือทั้งกระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงมหาดไทย เพื่อใช้พัฒนาแผนลงทุนในชุมชน วงเงิน 30,000 ล้านบาท รวมทั้งใช้ปฏิรูปภาคเกษตร เช่น ราคายางพาราตกต่ำ ชดเชยการตัดต้นยาง เพื่อลดพื้นที่ปลูกยางลง 10-20% เตรียมเสนอ สนช. พิจารณาภายในวันที่ 22 มี.ค.นี้
พร้อมกันนั้นที่ประชุม ครม. ยังเห็นชอบกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 62 วงเงิน 3 ล้านล้านบาท เป้าหมายรายได้ 2.55 ล้านล้านบาท สูงกว่าปี 61 จำนวน 1 แสนล้านบาท จัดทำเป็นงบประมาณแบบขาดดุล 4.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็นงบลงทุนวงเงิน 6.66 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% จากปี 61 และมีสัดส่วน 22.2% ของงบประมาณโดยรวม และงบประจำวงเงิน 2.2 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 75% และการอุดหนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 29.5% ส่วนที่เหลือตั้งไว้ชำระหนี้เงินต้น 78,500 ล้านบาท หรือประมาณ 2.6% ลดลงจากปีก่อน 7%
เป้าหมายมุ่งเน้นใช้เงินเพื่อการปฏิรูปในหลายด้าน ทั้งเรื่องลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ สังคมดิจิทัล การเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ ภายใต้สมมติฐานจีดีพีขยายตัว 4.2% เพิ่มจากปี 61 ที่คาดว่าจะขยายตัว 4% อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.5% และกำหนดให้ส่วนราชการเสนอขอวงเงินภายใน 25 ม.ค.นี้ จากนั้นจะเสนอ สนช. เพื่อพิจารณาวาระแรกช่วงต้นมิ.ย.