10 สุดยอด CEO ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในอาเซียน

10 สุดยอด CEO ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในอาเซียน

10 สุดยอด CEO ธุรกิจอีคอมเมิร์ซในอาเซียน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Chief Executive Officer หรือที่เราเรียกกันอยู่จนชินปากว่า CEO นั้น แท้จริงแล้วไม่ได้เป็นเพียงแค่ตำแหน่งที่ตั้งขึ้นมาให้โก้หรูเท่านั้น แต่ CEO คือผู้ที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญของบริษัทเลยก็ว่าได้ แค่คนเดียวก็ต้องเป็นทั้งหน้าตา เป็นทั้งผู้ขับเคลื่อน อีกทั้งยังต้องพัฒนาบริษัทให้ก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อย ๆ

สำหรับยุคนี้ที่เทรนด์อีคอมเมิร์ซเริ่มรุ่งพุ่งแรงแซงโค้งธุรกิจอื่น ๆ จึงทำให้เราเห็น CEO หน้าใหม่ในรูปแบบที่ทั้งทันสมัย น่ามอง เก่ง ฉลาดเกินตัวและอายุน้อย แถมบางคนยังมาพร้อมกับความหน้าตาดีที่มาเป็นออปชั่นเสริมให้ธุรกิจนั้น ๆ ดูดีขึ้นอีกเป็นกอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทอีคอมเมิร์ซหน้าใหม่ในอาเซียนที่เริ่มบูมและเกิดใหม่ขึ้นมาราวกับดอกเห็ด พร้อมกับตัว CEO ที่มีคุณสมบัติครบพร้อมทั้งสมอง หน้าตา และความสามารถแบบหาตัวจับยากเลยทีเดียว

วันนี้เราได้คัดเอา CEO แห่งบริษัทอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาแนะนำให้รู้จักกันให้มากขึ้นว่าพวกเขามีดีกันขนาดไหน

  1. Maxmilian Bittner แห่ง Lazada Group (สิงคโปร์)

หนุ่ม CEO สุดฮอตคนแรกคงไม่ใช่ใครที่ไหนนอกจาก Maxmilian Bittner แห่ง Lazada Group ซึ่งหนุ่มเยอรมันคนนี้มีดีกรีที่โดดเด่นไม่ใช่น้อย เพราะเป็นทั้งผู้ก่อตั้งและ CEO ขับเคลื่อนเว็บไซต์ออนไลน์ช้อปปิ้งที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง Lazada แถมยังสามารถชนะใจได้เงินลงทุนก้อนโตจาก Alibaba Group อีกต่างหาก

โดยขณะนี้ Lazada ได้เปิดให้บริการในประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนทั้ง มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

 

  1. Chris Feng แห่ง Shopee (สิงคโปร์)

หนุ่มสัญชาติสิงคโปร์ผู้มากความสามารถที่ไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะเขาคือผู้ที่คอยกุมบังเหียนของบริษัทเกมยักษ์ใหญ่ที่เป็นที่รู้จักกันไปทั่วอย่าง Garena Online แต่ตอนนี้หน้าที่ของเขาคือผู้บริหารไฟแรงแห่ง Shopee แพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ที่กำลังมาแรงอยู่ไม่น้อยในอาเซียน แถมก่อนหน้านี้เขายังเคยรับหน้าที่เป็นผู้จัดการส่วนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้กับ Zalora และ Lazada อีกด้วย เรียกได้ว่าประสบการณ์ด้านอีคอมเมิร์ซนั้นแน่นปึ้กเกินใคร

เมื่อมารับหน้าที่ดูแลบริหารเว็บไซต์สุดฮิตอย่าง Shopee แล้วก็ทำให้ Shopee เริ่มเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในหลายประเทศมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ หรือแม้แต่ไทยเองก็ตาม

 

  1. พอล ศรีวรกุล แห่ง aCommerce (ไทย)

หนุ่มหล่อหน้าตาดี การศึกษาเด่น พร้อมความสามารถอันแพรวพราวแบบหาตัวจับยาก นอกจากจะเคยประสบความสำเร็จจากเว็บไซต์ธุรกิจโซเชียลคอมเมิร์ซในรูปแบบคูปองออนไลน์แห่งแรกในประเทศไทยอย่าง Ensogo มาแล้ว ตอนนี้ก็ได้แยกตัวออกมาก่อตั้ง aCommerce และยังดำรงตำแหน่งเป็น CEO ของเครือบริษัทนี้อีกด้วย

ซึ่ง aCommerce นั้นก็คือผู้ให้บริการทางด้านอีคอมเมิร์ซแบบครบวงจร ทั้งการทำตลาด การใช้เทคโนโลยี การชำระเงิน ระบบคลังสินค้า ระบบโลจิสติกส์ เป็นต้น ด้วยการผสานเทคโนโลยีออนไลน์กับออฟไลน์เข้าด้วยกัน โดยแนวทางของ aCommerce จะเน้นการสร้างตลาดอีคอมเมิร์ซให้เป็นที่สนใจและประสบความสำเร็จก่อน จากนั้นจึงขายต่อให้กับผู้ประกอบการรายอื่นให้ไปใช้งานต่อได้ทันที

 

  1. ปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา แห่ง wemall (ไทย)

ณ เวลานี้คงไม่มีใครไม่รู้จักกับเว็บไซต์ช้อปปิ้งออนไลน์ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรูปแบบใหม่ที่เข้ามาแทนที่ iTrueMart โดยมีการออกแบบและพัฒนาให้ตอบรับความต้องการของผู้ใช้งานชาวไทยได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งสินค้าที่วางจำหน่ายบนเว็บไซต์แห่งนี้ก็จะเน้นสินค้าในแบรนด์ที่เป็นที่รู้จักอยู่แล้วเป็นหลัก ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกซื้อสินค้าที่ต้องการได้อย่างง่ายดาย โดย wemall นั้นได้ปุณณมาศ วิจิตรกุลวงศา เข้ามาเป็นผู้ขับเคลื่อนเว็บไซต์ให้พัฒนาและเดินหน้าไปไกลขึ้น และเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในหมู่ชาวไทยส่วนใหญ่อีกด้วย

สำหรับปุณณมาศนั้นนับเป็นชายที่มากความสามารถอีกคนหนึ่งเลยทีเดียว เพราะเขาเคยร่วมงานกับบริษัทเทคโนโลยีและโทรคมนาคมหลายแห่งด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ทีเอ ออเร้นจ์ จำกัด (หรือบริษัท ทรู มูฟ จำกัด ในปัจจุบัน), AT&T Wireless, Ericsson International และ Singtel Group เป็นต้น

 

  1. David Chmelař แห่ง iPrice Group (มาเลเซีย)

อีกหนึ่ง CEO ที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ David Chmelař แห่ง iPrice Group ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่มาเลเซีย ซึ่งสตาร์ตอัปแห่งนี้กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมแหล่งช้อปปิ้งออนไลน์ชั้นนำต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน และยังมีคูปองส่วนลด พร้อมโปรโมชั่นมากมายให้กับผู้ใช้บริการได้ไปช้อปกันอย่างจุใจ

ผู้บริหารหนุ่มหล่อจากเมืองเช็กคนนี้เคยทำงานให้กับ Wüstenrot Financial Group และก่อนหน้านี้ก็ยังเคยเป็นหัวหน้าโปรเจ็กต์ของ Boston Consulting Group อีกด้วย

 

richardtan

  1. Richard Tan แห่ง Lelong.my (มาเลเซีย)

Richard Tan ผู้ก่อตั้งและ CEO แห่งเว็บไซต์ช้อปปิ้งออนไลน์ Lelong.my ที่ก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในคู่แข่งคนสำคัญของ Lazada ในมาเลเซีย ซึ่งแต่เดิมคือเว็บไซต์แพลตฟอร์มประมูลสินค้า แต่ต่อมาก็ได้มีการปรับตัวให้กลายเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการช้อปปิ้งโดยเฉพาะ และได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามเลยทีเดียว ก่อนหน้านี้เขาเคยพิสูจน์ตัวเองมาแล้วกับการรับตำแหน่งหน้าที่เป็น MD ให้ทั้งกับ JBA Asia และ EDS Malaysia

นอกจากเว็บไซต์ Lelong.my แล้ว Richard ยังเป็นผู้ก่อตั้งเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซอื่น ๆ ที่น่าสนใจด้วย อย่างเช่นเว็บไซต์ให้บริการแบบ B2C อย่าง Superbuy.my และการให้บริการด้านการใช้จ่ายออนไลน์ Netpay.my

 

  1. William Tanuwijaya แห่ง Tokopedia (อินโดนีเซีย)

มาถึงฝั่งแดนอิเหนากันบ้าง เพราะถ้าพูดถึงอีคอมเมิร์ซแล้วจะขาดอินโดนีเซียไปไม่ได้เลยทีเดียว เนื่องจากถือว่าเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้เลยก็ว่าได้ และสำหรับอินโดนีเซียแล้ว เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซที่ถูกพูดถึงมากที่สุดเว็บไซต์หนึ่งเลยก็คือ Tokopedia นับเป็นสตาร์ตอัปแห่งแรกของอินโดนีเซีย และยังประสบความสำเร็จมากที่สุดเลยก็ว่าได้ จนไปเข้าตานักลงทุนยักษ์ใหญ่อย่าง SoftBank และ Sequoia Capital โดยได้รับเงินลงทุนมากถึง 100 ล้านดอลลาร์

และชายหนุ่มที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้ก็คือ William Tanuwijaya ชาวอินโดนีเซียแท้ ๆ ที่มีความฝันอยากตั้งบริษัทของตัวเองโดยเริ่มต้นจาก 0 คือเป็นเพียงพนักงานบริษัทธรรมดา ๆ แบบที่ไม่ได้มีการศึกษาสูงส่งอะไรมากนัก และไม่ได้มีครอบครัวสนับสนุนเงินทุนอะไรให้กับเขา แต่ในวันนี้ Tokopedia กลับได้ก้าวขึ้นมาเป็นเว็บไซต์แพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ที่เปิดโอกาสให้ผู้ซื้อและผู้ขายได้เข้ามาทำธุรกิจกันอย่างง่าย ๆ บนแพลตฟอร์มของ Tokopedia นั่นเอง

 

  1. Ferry Unardi แห่ง Traveloka (อินโดนีเซีย)

สำหรับเว็บไซต์จองตั๋วเครื่องบินและโรงแรมออนไลน์ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซียคงต้องยกให้กับ Traveloka และผู้ที่อยู่เบื้องหลังสตาร์ตอัปสุดร้อนแรงแห่งนี้ก็คือ Ferry Unardi ผู้ร่วมก่อตั้งและ CEO ของ Traveloka นั่นเอง โดยหลังจากเรียนจบ MBA มาจาก Harvard Business School แล้วเขาก็เริ่มลงมือก่อร่างสร้าง Traveloka ให้เป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมา

และตอนนี้ Traveloka ก็ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น นับเป็นบริษัทอีคอมเมิร์ซด้านการท่องเที่ยวในอาเซียนที่ไม่มีใครไม่รู้จัก ในปัจจุบัน Traveloka ยังเปิดให้บริการในอีกหลายประเทศทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์

 

  1. Nguyen Duc Tai แห่ง thegioididong.com (เวียดนาม)

หนึ่งในประเทศที่กำลังก้าวหน้าแบบมาแรงแซงทางโค้งเลยก็คือเวียดนาม และเรียกได้ว่าที่นี่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีการแข่งขันค่อนข้างสูงเลยทีเดียว แต่เว็บไซต์ช้อปปิ้งออนไลน์อันดับหนึ่งของเวียดนามที่แซงหน้า Lazada ได้นั้นก็คือ thegioididong.com ที่มี Nguyen Duc Tai เป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ โดยเว็บไซต์ thegioididong.com เป็นเว็บไซต์จำหน่ายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งโทรศัพท์มือถือ แล็ปท็อป คอมพิวเตอร์ ฯลฯ ที่ใหญ่สุดในเวียดนาม และยังถูกยกให้เป็นตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของเวียดนามอีกด้วย โดยมีให้บริการทั้งการสั่งซื้อออนไลน์และยังมีร้านค้าจำหน่ายทั่วประเทศอีก 267 แห่ง

Nguyen Duc Tai จบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์มาจากฝรั่งเศส และเคยทำงานอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์มาก่อนที่จะกลับมาจัดตั้งบริษัทจำหน่ายโทรศัพท์มือถือในประเทศบ้านเกิดของตนเอง จนกระทั่งประสบความสำเร็จอย่างมากในปัจจุบัน

 

  1. Tran Hai Linh แห่ง Sendo.vn (เวียดนาม)

อีกหนึ่งคู่แข่งคนสำคัญของ Lazada ในเวียดนามก็คือ Sendo.vn เว็บไซต์แพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ที่เชื่อมต่อผู้ซื้อและผู้ขายทั่วประเทศเข้าไว้ด้วยกัน แต่เดิม Sendo.vn เป็นผู้ให้บริการด้าน FTP ออนไลน์ แต่ในปัจจุบันก็พัฒนาขึ้นเป็นแพลตฟอร์มสำหรับการช้อปปิ้งโดยเฉพาะ ซึ่งมีร้านค้ามากกว่า 80,000 ร้านค้าที่ลงทะเบียนจำหน่ายสินค้าทั้งเสื้อผ้า ของตกแต่งบ้าน เฟอร์นิเจอร์ เครื่องสำอาง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น โดยมีสินค้ามากกว่า 5 ล้านรายการ แบ่งออกเป็น 21 หมวดหมู่เลยทีเดียว

ซึ่งความสำเร็จนี้ก็ต้องยกความดีความชอบให้กับผู้กุมบังเหียนคนสำคัญของ Sendo.vn อย่าง Tran Hai Linh ซึ่งก่อนหน้าที่จะเข้ามาบริหาร Sendo.vn เขาก็เคยสร้างผลงานด้วยการรับหน้าที่เป็นผู้จัดการประจำประเทศเวียดนามให้กับ Lenovo เวียดนามและอินโดจีน

 

หวังว่าผู้นำรุ่นใหม่ทั้ง 10 คน จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้อ่าน Sanook! Money ทุก ๆ ท่าน ในการก้าวตามความฝันสร้างธุรกิจของตนเองให้ประสบความสำเร็จ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook