8 ธุรกิจบูมรับสังคมผู้สูงวัย

8 ธุรกิจบูมรับสังคมผู้สูงวัย

8 ธุรกิจบูมรับสังคมผู้สูงวัย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โลกกำลังก้าวเข้าสู่ 'สังคมผู้สูงวัย' (aging society) โดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียนที่มีประชากรอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไปถึง 36.9 ล้านคน คิดเป็น 5.89% ของประชากรทั้งหมดในภูมิภาค

ขณะที่ประเทศไทยมีประชากรกว่า 66 ล้านคน มีจำนวนผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 65 ปี ราว 6.5 ล้านคน คิดเป็น 9.9% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงอายุมากเป็นอันดับสองของอาเซียนรองจากสิงคโปร์ โดยบ้านเราจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบในปี 2564

Sanook! Money ขอนำเสนอประเภทสินค้าและบริการเกี่ยวกับผู้สูงอายุที่มีโอกาสเติบโตเพื่อรองรับแนวโน้มดังกล่าว ได้แก่

เวชภัณฑ์และการดูแลสุขภาพ (Pharma & Healthcare)
ลักษณะโรคของกลุ่มผู้สูงอายุเปลี่ยนไปเป็นโรคเรื้อรังมากขึ้น ผู้สูงอายุกว่า 80% มี 1 โรคเรื้อรัง อันได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด (อันดับ 1) โรคมะเร็ง ภาวะสมองเสื่อม เบาหวาน โรคกระดูกพรุน โรคข้ออักเสบ

 

ระบบการเงินผู้สูงวัย
รัฐมีภาระที่จะต้องจ่ายเงินบำนาญมากขึ้น จนกองทุนบำเหน็จบำนาญเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ อาจจะต้องเปลี่ยนจากกองทุนรัฐ เป็นของเอกชนเพื่อให้มาช่วยแบ่งเบาภาระ

 

 

สินค้าอุปโภคบริโภค
อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปโดยเฉพาะอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น อาหารไขมันต่ำ ไม่มีคอเลสเตอรอล น้ำตาลน้อยหรือไม่มีเลย ผลิตภัณฑ์ที่ป้องกันหรือช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ อาทิ โรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง เบาหวาน และระบบย่อยอาหาร เป็นต้น กลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่มาแรงที่สุด คือ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม รองลงมาคือ อาหารที่มาจากธรรมชาติและดีต่อสุขภาพ ส่วนกลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตมาก คือ วิตามินและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางประเภทออร์แกนิกส์ (Organics) ที่ผลิตจากธรรมชาติหรือสมุนไพร กำลังได้รับความสนใจจากผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้บริโภคมั่นใจว่าปลอดภัยกว่าการใช้สารเคมี

 

การท่องเที่ยวสำหรับผู้สูงอายุ
เป็นการเดินทางที่มีกิจกรรมไม่หนัก ไม่ต้องเดินเป็นระยะไกล ๆ ใช้เวลาแต่ละสถานที่ค่อนข้างนาน มีการแวะพักเพื่อเอื้อต่อการเข้าห้องน้ำที่บ่อยขึ้น ติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอยู่ในรถ เช่น วีลแชร์ เป็นต้น หรือสินค้าที่จำหน่ายในระหว่างเส้นทางท่องเที่ยวก็ใช้ชื่อว่า “มุมสุขภาพ” เพื่อให้ผู้ซื้อไม่รู้สึกเขิน อย่างเช่นที่ญี่ปุ่นก็ใช้แทนการระบุว่าเป็นสินค้าเพื่อผู้สูงวัย

 

ธุรกิจบริการผู้สูงวัย
มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจของตนเองเพื่อให้เหมาะสมกับการบริการผู้สูงวัยมากขึ้น เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ตบางรายในญี่ปุ่น ที่เริ่มปรับเปลี่ยนเวลาเปิดบริการให้เช้าขึ้น จากแต่เดิมที่เปิด 9 โมงเช้ามาเป็นเปิด 7 โมงเช้า ซูเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งยังได้มีการเพิ่มบริการรับจัดงานศพแบบเรียบง่ายในราคาย่อมเยาอีกด้วย เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ที่คาดว่าจะต้องใช้บริการ เนื่องจากบริษัทรับจัดงานศพใหญ่ ๆ ในญี่ปุ่นมีค่าบริการที่สูงมาก ร้านกาแฟ-ร้านอาหาร ออกแบบทางเดินให้กว้างขวางกว่าปกติ เพียงพอให้ทั้งรถเข็นและอุปกรณ์ช่วยเดินผ่านได้ เก้าอี้ก็มั่นคงแข็งแรง และโต๊ะก็มีขนาดที่ค่อนข้างเตี้ยกว่ามาตรฐาน เมนูที่ขายก็เป็นอาหารที่เคี้ยวง่าย พนักงานก็จะบริการส่งอาหารให้ที่โต๊ะ

 

วัสดุก่อสร้าง-อุปกรณ์
สำหรับผู้สูงอายุ กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการสร้างและตกแต่งบ้านที่มีผลต่อความปลอดภัยในการใช้ชีวิตภายในบ้าน การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับกายภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้สูงวัย เช่น ก๊อกน้ำ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เลือกแบบปัดไปด้านข้างมากกว่าแบบหมุนหรือกด ลูกบิดประตู เลือกแบบก้านโยกที่จับถนัดมือ สวิทช์-ปลั๊กไฟ ที่ใหญ่มีสีสันที่เห็นชัดเจน

 

เฟอร์นิเจอร์สำหรับผู้สูงอายุ
กลุ่มผู้สูงอายุมีข้อจำกัดในการดำเนินชีวิตเนื่องจากสภาพร่างกายเริ่มเสื่อมถอย ดังนั้นผู้ประกอบการในธุรกิจเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ภายในบ้านควรจะมีการปรับรูปแบบให้เหมาะสมมากขึ้น เช่น เตียงนอนที่สามารถปรับระดับได้และไม่สูงเกินไป ที่นอนยางพาราที่มีความแข็งตัว เก้าอี้ไม้ที่มีพนักพิง และหมอนเพื่อผู้สูงอายุ เป็นต้น

 

อสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ
จะเป็นธุรกิจอันดับต้น ๆ ที่ได้รับประโยชน์จากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยคาดว่าในระยะแรกจะเป็นโอกาสของธุรกิจที่ให้บริการดูแลผู้สูงอายุเป็นระยะสั้น ๆ เช่น การดูแลระหว่างวันแบบไปเช้า-เย็นกลับ (Daycare) และการพักฟื้นระยะยาว (Longstay) ที่พำนักระยะยาวจะมีโอกาสขยายตัวมากขึ้นซึ่งจะได้รับแรงผลักดันจากทั้งผู้สูงอายุคนไทยและชาวต่างชาติ

ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรเริ่มปรับตัวและติดตามพฤติกรรมของสังคมไทยที่จะเปลี่ยนไป รวมถึงศึกษารูปแบบธุรกิจที่เหมาะสมกับตลาดคนไทย

อย่างไรก็ตามจะพบว่าทั้ง 8 ธุรกิจนี้ มีโอกาสสำคัญในการขยายฐานลูกค้าของผู้ประกอบการ ซึ่งหากมองในมุมอาเซียนและอาเซียน +3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ที่มีจำนวนผู้สูงอายุรวมกันเกิน 300 ล้านคน ถือเป็นจำนวนที่ค่อนข้างสูงและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ประกอบการจะผลิตสินค้าให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook