5 นิสัยใช้เงินชวนทรัพย์จาง

5 นิสัยใช้เงินชวนทรัพย์จาง

5 นิสัยใช้เงินชวนทรัพย์จาง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลายคนอาจรู้สึกว่าสมัยนี้ค่าครองชีพสูงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่สมดุลกับรายรับที่คงที่เอาซะเลย นอกจากจะรู้สึกว่ารายได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้จ่าย ยังปลอบใจว่าดีแล้วที่ไม่เป็นหนี้ ดังนั้นไม่ต้องพูดถึงเรื่องการออมเงินที่ดูจะเป็นไปไม่ได้ตั้งแต่ต้นเลยดีกว่า

แล้วการมีเงินออมเป็นไปไม่ได้จริงหรือ???

แท้จริงแล้วการแบ่งสัดส่วนรายรับ-รายจ่ายและวินัยทางการเงินเป็นพื้นฐานด้านการบริหารจัดการที่ช่วยให้ทุกคนมีเงินเก็บได้ แต่ก่อนอื่นอาจจะต้องเริ่มต้นสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของตัวเองก่อนว่าที่ไม่มีเงินเก็บ เพราะพฤติกรรมชวนกระเป๋าฉีกเหล่านี้หรือเปล่า

มาดู 5 พฤติกรรมการใช้จ่ายชวนกระเป๋าฉีก

1. เปลี่ยนของใช้เป็นว่าเล่น

การซื้อหาเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋าแฟชั่น เครื่องประดับ ไอเท็มฮิตเป็นเรื่องง่าย บางครั้งเพิ่งเห็นในเว็บไซต์ พออีกวันยังไม่ทันตามหา ที่ตลาดนัดข้างออฟฟิศก็นำมาขายแล้ว ยิ่งราคาไม่แพงก็ไม่ต้องคิดมาก ควักกระเป๋าจ่ายหิ้วติดไม้ติดมือกลับบ้านเป็นประจำ

เสื้อผ้าหลายชิ้นซื้อมาใส่ไม่กี่ครั้งก็เลิกฮิต พอซื้อมาใหม่ก็กองทับถมไปเรื่อย ๆ ก่อนจะพบว่าเสื้อผ้าเต็มตู้แต่ไม่รู้จะใส่อะไร เพราะเต็มไปด้วยชุดที่ไม่ค่อยได้ใส่ ดังนั้นหากทบทวนดูดี ๆ แล้วจะพบว่าการจับจ่ายสินค้าแล้วได้ของใหม่มาใช้อยู่เสมอนั้นมักไม่คุ้มกับราคาที่ต้องจ่ายไป สู้เลือกซื้อของที่มีคุณภาพ ใช้แล้วดูดีในราคาเหมาะสมเพื่อที่จะไม่ต้องเปลี่ยนใหม่บ่อย ๆ ก็เป็นทางเลือกที่ดีกว่าในการเก็บเล็กผสมน้อยไว้สำหรับการออมในระยะยาว

2. พุ่งเข้าใส่คำว่า SALE

ยิ่งตัวอักษร 4 ตัวนี้มีสีแดงและขนาดใหญ่มากเท่าไหร่ ยิ่งมีพลังดึงดูดให้เดินพุ่งเข้าไปหามากเท่านั้น

ถ้าสังเกตดี ๆ จะรู้ว่าห้างสรรพสินค้าและร้านต่าง ๆ นั้นทำโปรโมชั่นลดราคาสินค้ากันตลอดทั้งปีอยู่แล้ว แต่การติดป้าย SALE ยังคงเป็นกลยุทธ์ที่กระตุ้นความสนใจของคนที่เดินผ่านได้เสมอ แม้สุดท้ายจะพบว่าสินค้าที่ลดมีแค่ส่วนหนึ่งแถมไม่ได้ลดราคามากเลย แต่การตอกย้ำให้เห็นว่าของที่เคยดูไว้กลับมาลดราคาอีกซ้ำ ๆ ก็ทำให้เคลิ้มได้เหมือนกัน ดังนั้นหากเห็นป้าย SALE จึงควรตั้งสติก่อนว่าเป็นการลดราคาแบบไหน ถ้าตอนนี้ลดแค่ 30% สู้รอช่วงที่ลดทั้งร้านสูงสุดถึง 50-80% ก่อนค่อยเข้าไปดูดีกว่า

ยิ่งเดี๋ยวนี้การช็อปปิ้งออนไลน์เป็นเรื่องง่าย แค่คลิกดูสินค้า เลือก โอน ทำได้จบเพียงไม่กี่วินาทีบนโทรศัพท์มือถือ พอเห็นคำว่า SALE กระพริบเคลื่อนไหวเรียกร้องอยู่บนจออาจจะเผลอใจซื้อได้ง่าย ๆ โดยที่ไม่ได้ตรวจเช็กราคาก่อนด้วยซ้ำ

ดังนั้นลองเพิ่มความรอบคอบและเปรียบเทียบราคาก่อนซื้อก็สามารถได้ของดีราคาถูกจริง ๆ เหมือนกัน

3. มีเงินเดือนเท่าไหร่ ใช้เท่านั้น

ประโยคว่า ใช้เงินเดือนชนเดือน ดูเหมือนจะสืบทอดมาสู่มนุษย์เงินเดือนทุกยุคทุกสมัยและคงส่งต่อไปเรื่อย ๆ หากไม่เริ่มต้นด้วยการจัดสรรเงินเดือนอย่างมีวินัย แล้วจะทำอย่างไรให้มีเงินเหลือเก็บ

เป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อมีเงินเดือนอยู่ในบัญชีที่พร้อมกดออกมาใช้ในชีวิตประจำวันอยู่เท่าไหร่ ย่อมจะกดออกมาใช้ให้พอดีในเดือนนั้น ทันทีที่ได้เงินเดือนลองแบ่งเงิน 10% เก็บก่อน แล้วค่อยใช้ เปิดบัญชีเงินฝากสำหรับออมเงิน และอีกหนึ่งบัญชีเพื่อใช้จ่าย หากสำรวจธนาคารหลายแห่งก็เริ่มมีการออกบัญชีในรูปแบบนี้มาให้ลูกค้าได้ใช้บริการ

การแบ่งเงินไปเก็บก่อน แล้วค่อยใช้ หลังจากนั้นสัญชาตญาณการอยู่รอดจะลำดับความสำคัญว่าค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวันมีอะไรบ้าง เมื่อเงินเดือนขึ้นหรือมีรายได้เพิ่มเติมแล้วจึงคำนวณเพิ่มว่าจะออมได้มากกว่าเดิมเท่าไร

4. ใช้บัตรเครดิตผิดวิธี

สำหรับผู้ที่ใช้บัตรเครดิตถูกวิธีจะพบว่ามีประโยชน์และช่วยบริหารค่าใช้จ่ายได้ แต่หากใช้บัตรเครดิตผิดวัตถุประสงค์หรือไม่สามารถชำระได้ตามกำหนด ย่อมเสี่ยงกับการสร้างภาระหนี้สินได้เหมือนกัน

พฤติกรรมการใช้บัตรเครดิตผิดวิธีมีหลายประเภทตามการใช้ของแต่ละบุคคล เช่น ใช้บัตรเครดิตกดเงินสด ใช้บัตรเครดิตหมุนเงิน ชำระยอดบัตรเครดิตขั้นต่ำ ชำระบัตรเครดิตไม่ตรงเวลา เป็นต้น เพราะสิ่งที่ต้องระวังเมื่อใช้บัตรเครดิตคือค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยที่ผู้ใช้ควรศึกษาให้ดีก่อนที่จะนำมารูดใช้เพื่อความสะดวกสบาย

5. ใช้จ่ายเกินตัว

การสื่อสารผ่านเทคโนโลยียุคปัจจุบันที่ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นและโพสชีวิตส่วนตัวไปสู่กลุ่มเพื่อนในสังคมออนไลน์หรือกระทั่งพื้นที่สาธารณะอย่างง่ายดายแล้ว ยังได้เห็นไลฟ์สไตล์และการจับจ่ายที่หรูหราของคนอื่น ทำให้อาจจะกระตุ้นให้เกิดความอยากใช้ชีวิตแบบนั้นบ้างเหมือนกัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าโซเชียลมีเดียมีผลต่อพฤติกรรมการบริโภคยุคใหม่เป็นอย่างมาก แน่นอนว่าการตามไปชิมร้านใหม่ที่ใคร ๆ ก็แนะนำ นั่งคาเฟ่ที่ตกแต่งสวย ๆ จับจ่ายใช้สอยสินค้าตามคนอื่นไม่ใช่เรื่องผิด แต่ควรควบคุมตัวเองให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยสามารถกำหนดเป้าหมายการใช้จ่ายเพื่อให้รางวัลกับตัวเองในลักษณะใดบ้างเดือนละกี่ครั้ง โดยไม่ติดกับไลฟ์สไตล์หรูหราจนใช้จ่ายฟุ้งเฟ้อเป็นประจำจนเกินตัว

 

 

ดังนั้นหากมีเป้าหมายในการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และเริ่มบริหารจัดการตั้งแต่ต้นด้วยสติ พร้อมกับคาถาที่ว่า “แบ่งเก็บแบ่งออมก่อน แล้วค่อยใช้” คุณจะมีเงินออมได้เหมือนคนอื่น ๆ แน่นอน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook