คลังรับไทยเข้มแข็งทำฐานะอ่อนแอช่วง2-3ปี
กรมบัญชีกลางเร่งปรับปรุงงบรายจ่ายประจำ หลังประเมินไทยเข้มแข็งทำฐานะการคลังตกอยู่ในภาวะอ่อนแอในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวระหว่างเสวนาหัวข้อ "ท่านพร้อมหรือยัง เมื่อเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว" ซึ่งจัดเนื่องในโอกาสครบรอบ 48 ปี สำนักงานเศรษฐกิจการคลังว่า ขณะนี้โครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 กำลังเดินหน้าไปด้วยดี โดยในเม็ดเงินลงทุนจำนวน 2 แสนล้านบาท ในล็อตแรกนั้น มีโครงการที่สามารถเบิกจ่ายได้ครบถ้วนแล้วทั้งสิ้น 70 กว่าโครงการ สามารถกระจายเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจแล้วประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท จากทั้งสิ้น 2 หมื่นกว่าโครงการ ถือว่า เป็นที่น่าพอใจมาก
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าโครงการลงทุนไทยเข้มแข็งดังกล่าว จะสามารถกระตุ้นศรษฐกิจไทยได้ แต่ขณะเดียวกัน ก็จะเห็นว่า จะยิ่งส่งผลทำให้ฐานะของภาคการคลังอ่อนแอลง เป็นผลจากการเร่งรัดการใช้จ่ายเงิน และ กู้เงินอย่างมหาศาล ซึ่งจะส่งผลทำให้หนี้สาธารณะปรับสูงขึ้นถึง 60% ของจีดีพี ประกอบกับ การที่รัฐบาลจะต้องจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลอย่างต่อเนื่อง หรือเฉลี่ยแต่ละปีอยู่ที่ 7% ของจีดีพี รวมไปถึง มีดอกเบี้ยจากการกู้เงินลงทุนโครงการไทยเข้มแข็งที่รัฐบาลจะต้องจ่ายปีละ 2-3 หมื่นล้านบาท และ รัฐบาลยังมีภาระเกี่ยวกับงบชำระดอกเบี้ยอีกประมาณปีละ 1.5 แสนล้านบาท ดังนั้น จึงเห็นภาระที่จะเกิดขึ้นนี้จะทำให้รัฐบาลกลับเข้าสู่ภาวะงบประมาณแบบสมดุลได้ยาก
"ตามแผนการทำงบประมาณ รัฐบาลจะต้องจัดทำงบประมาณแบบสมดุลภายในปี 58 ดังนั้น ภายหลังจากการกู้เงินเพื่อลงทุนไทยเข้มแข็งเสร็จสิ้นในปี 54 เห็นว่า รัฐบาลจะต้องเตรียมปรับโครงสร้างด้านรายจ่ายรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพมีมากขึ้น โดยปัจจุบันเห็นว่า งบรายจ่ายประจำของรัฐบาลอยู่ในสัดส่วนที่มากเกินไป ทำให้งบลงทุนของรัฐบาลมีเพียงแค่ 12% ของงบประมาณโดยรวม ดังนั้น กรมบัญชีกลางจะต้องเข้าไปพิจารณาในส่วนของรายจ่ายดังกล่าวแยกทีละรายการ เพื่อดูแลการใช้จ่าย"
ทั้งนี้ กรมบัญชีกลางได้รับมอบนโยบายจากนายกรัฐมนตรี โดยสั่งการให้ร่วมกับสถาบันวิจัยสาธารณสุข ทำการศึกษาแนวทางในการปรับปรุงรายจ่ายสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งกรมบัญชีกลางเห็นว่า มีแนวทางในการปรับปรุงหลายวิธี โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการใช้ยากนอกบัญชียาหลัก ซึ่งทำให้มีการสิ้นเปลืองงบประมาณ ดังนั้น จึงเตรียมที่จะเสนอแนวทางปฏิรูปด้านการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล เนื่องจากที่ผ่านมารายจ่ายดังกล่าวโตถึงปีละ 20-30% โดยในปีงบประมาณ 52 ขยายตัวถึง 6 หมื่นล้านบาท และในส่วนของรายจ่ายประจำด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น งบประมาณอุดหนุนด้านการเกษตร งบประมาณสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งในแต่ละปีมีค่าใช้จ่ายที่โตเร็วมาก รัฐบาลก็ต้องเร่งศึกษาหาแนวทางในการปฏิรูป เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาฐานะการคลังอ่อนแอในอนาคต
"การที่รัฐบาลกำลังเร่งรัดการใช้จ่ายให้เร็วที่สุด รวมไปถึงการระดมกู้เงินอย่างมากมายนั้น เห็นว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ฐานะการคลังของรัฐบาลจะเข้าสู่ภาวะอ่อนแอลง ดังนั้น รัฐบาลจะต้องเตรียมปรับโครงสร้างรายจ่ายประจำ ซึ่งขณะนี้มีเยอะเกินไปให้มี ประสิทธิภาพมากขึ้น โดยหากไม่มีการลงทุนไทยเข้มแข็ง งบลงทุนของรัฐบาลก็มีเพียงแค่ 12% ของงบประมาณโดยรวมเท่านั้น ดังนั้น ในส่วนของรายจ่ายประจำรัฐบาลจะต้องเข้าไปดูเป็นรายการๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อจัดจ้าง งบอุดหนุนต่างๆ ก็ต้องดูให้มีประสิทธิภาพ รวมถึง จะต้องดึงเงินเอกชนมาลงทุนร่วมกับภาครัฐบาล ในลักษณะPPP ด้วย ซึ่งถ้ารัฐบาลไม่เร่งปฏิรูปภาคการคลังก็จะทำให้เป็นจุดอ่อนแอของเศรษฐกิจไทยในอนาคต" นายพงษ์ภาณุ กล่าว
นายสาธิต รังคศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยตัวเลขเศรษฐกิจทุกด้านในไตรมาสสามปรับตัวดีขึ้น ทำให้ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวติดลบเพียง 3% จากที่ติดลบ 6%ในครึ่งปีแรก ส่วนปีหน้าคาดว่า เศรษฐกิจจะขยายตัวได้มากกว่า 3% หรือ เฉลี่ยประมาณ 3.3%
"ในไตรมาสสามตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวมีสัญญาณที่ดีขึ้น และในไตรมาสสี่ก็น่าจะดีขึ้นอีกจากผลการลงทุนในโครงการไทยเข้มแข็ง อีกทั้ง ภาวะเศรษฐกิจโลกก็มีทิศทางที่ดีขึ้น ฉะนั้น ในไตรมาสสี่จะต้องดีขึ้นแน่" เขากล่าวและว่า นอกจากมาตรการทางการคลังที่เข้ามาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจแล้ว รัฐบาลยังมีมาตรการกึ่งการคลัง ซึ่งก็คือ การปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของแบงก์รัฐ หากปล่อยได้ตามเป้าหมายเชื่อว่า จะมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 0.3% ส่วนการเบิกจ่ายงบลงทุนไทยเข้มแข็งถ้าทำได้ตามเป้าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 0.4%