ผลสำรวจ ธ.ก.ส. เผยเกษตรกรไทยแฮปปี้สุด ๆ
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนา ธ.ก.ส. สำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรจากทุกภาคทั่วประเทศ ภายใต้หัวข้อ “ระดับความสุขของเกษตรกรไทย” จากกลุ่มตัวอย่างรวม 2,177 ราย โดยเก็บข้อมูลในช่วงวันที่ 1 – 29 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา เพื่อวัดระดับความสุขของเกษตรกรไทย
พบว่า ความสุขมวลรวมของเกษตรกรไทยในภาพรวม อยู่ในระดับมากที่สุด คะแนนเฉลี่ย 82.78 จาก 100 คะแนน เนื่องจากผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญขยายตัวทั้งปริมาณและราคาเพิ่มขึ้น อาทิ ผลไม้ (ทุเรียน มังคุด) ปาล์มน้ำมัน ปลาน้ำจืด รวมทั้งความต้องการบริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศมีต่อเนื่อง ประกอบกับภาครัฐมีการขับเคลื่อนมาตรการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือเกษตรกร อาทิ มาตรการเพิ่มขีดความสามารถภาคเกษตร มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
และเมื่อพิจารณาความสุขของเกษตรกรไทยในมิติชี้วัดความสุข 6 มิติ พบว่า มิติครอบครัวดี มีคะแนนเฉลี่ยความสุขสูงที่สุด 87.56 รองลงมาคือ มิติสุขภาพดี มิติการงานดี มิติใฝ่รู้ดี และมิติสุขภาพการเงินดี ตามลำดับ
ด้านการจำแนกตามอาชีพหลัก พบว่า เกษตรกรที่ประกอบอาชีพการเกษตรหลักทุกประเภท มีความสุขอยู่ในระดับมากที่สุด โดยผู้ประกอบอาชีพทำสวนผลไม้มีคะแนนเฉลี่ยความสุขสูงที่สุด (84.99) เป็นผลจากมาตรการภาครัฐตามแผนการบริหารจัดการผลไม้ เพื่อสนับสนุนด้านการพัฒนาคุณภาพสินค้าและช่องทางการตลาดประชารัฐ รวมทั้งการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลไม้ ประกอบกับตลาดต่างประเทศมีความต้องการบริโภคผลไม้สดและผลิตภัณฑ์ของไทยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณและมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาที่เกษตรกรขายได้มีทิศทางที่ดี
รองลงมา คือ เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน และเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาน้ำจืด มีคะแนนเฉลี่ยความสุขเท่ากับ 84.94 และ 84.62 ตามลำดับ
ขณะที่การจำแนกความสุขของเกษตรกรไทยรายภาค พบว่า เกษตรกรทุกภาคมีความสุขอยู่ในระดับมากที่สุด โดยภาคใต้ตอนบนมีคะแนนเฉลี่ยความสุขสูงที่สุด (86.36) รองลงมาคือ เกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก และภาคกลาง มีคะแนนเฉลี่ยความสุขมวลรวมเท่ากับ 84.51 83.44 และ 83.36 ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม เกษตรกรในภาคใต้ตอนล่างมีคะแนนเฉลี่ยความสุขน้อยที่สุด (80.36) เมื่อเทียบกับเกษตรกรในภาคอื่น เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน มีฝนตกชุก และอุทกภัยในพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตรและผลผลิตของเกษตรกรได้รับความเสียหาย รวมทั้งกระทบต่อความเป็นอยู่และรายได้ของเกษตรกรนั่นเอง