กระทรวงคลังยอมรับถือหุ้น 4 บริษัทกลุ่มเดวิส ไม่ฟันธงเอี่ยว อาบ อบ นวด

กระทรวงคลังยอมรับถือหุ้น 4 บริษัทกลุ่มเดวิส ไม่ฟันธงเอี่ยว อาบ อบ นวด

กระทรวงคลังยอมรับถือหุ้น 4 บริษัทกลุ่มเดวิส ไม่ฟันธงเอี่ยว อาบ อบ นวด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นางสาวปิยวรรณ ล่ามกิจจา รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. กล่าวว่า ตามที่มีข่าวกรณีกระทรวงการคลังมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทกลุ่มเดวิส 4 แห่ง ซึ่งเชื่อมโยงกับกรณี 'อาบอบนวด วิคตอเรีย ซีเคร็ท' นั้น

สคร. ในฐานะหน่วยงานของกระทรวงการคลัง ได้รับโอนมาจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ตามคำพิพากษาศาลฎีกา

ประกอบด้วยหุ้นของ บริษัท เดวิส ไดมอนด์สตาร์ จำกัด จำนวน 10,000 หุ้น, บริษัท เดวิส โคปา คาบานา จำกัด จำนวน 6,000 หุ้น, บริษัท เดวิส โกลเด้นท์สตาร์ จำกัด จำนวน 7,446 หุ้น และ บริษัท เดวิส ซิลเวอร์สตาร์ จำกัด จำนวน 10,000 หุ้น

"สคร. ถือหุ้นตามสิทธิ ซึ่งมีสัดส่วนเล็กน้อยเพียง 0.5-2.0% และที่ผ่านมายังไม่เคยได้รับเงินปันผลจากทั้ง 4 บริษัท และไม่แน่ใจว่า 4 บริษัทในกลุ่มเดวิสมีความเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับวิคตอเรีย ซีเคร็ท ของนายกำพล วิระเทพสุภรณ์ หรือไม่ เนื่องจากทราบข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์เพียงว่า 4 บริษัทดังกล่าวมีธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์" นางสาวปิยวรรณ กล่าว

อย่างไรก็ดี ผู้สื่อข่าวพบว่า หุ้นบริษัทกลุ่มเดวิสทั้ง 4 แห่ง มีจำนวนรวมกันทั้งสิ้น 33,446 หุ้น มูลค่า 3,344,600 บาท และเป็นธุรกิจที่ถูกยึดมาในคดีฟอกเงินตามคำพิพากษาศาลฎีกา เมื่อเดือนกันยายน 2554

 

แจงขายหุ้น 4 บริษัทตามแผนขายหลักทรัพย์ที่รัฐไม่จำเป็นต้องถือครอง

อีกด้านหนึ่ง สคร. ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลังให้ชี้แจงการถือหุ้นที่ได้รับโอนจาก ปปง. เนื่องจากกระทรวงการคลังมีหน้าที่รับผิดชอบในการถือครองและบริหารหลักทรัพย์ของรัฐ ซึ่งรวมถึงการถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชน

โดยหุ้นของบริษัทต่าง ๆ ที่กระทรวงการคลังถือครองในปัจจุบันได้รับมาโดยวิธีการที่แตกต่างกัน เช่น การลงทุนตามนโยบายภาครัฐ การลงทุนเพิ่มเติมตามสิทธิของผู้ถือหุ้นเดิม และการได้รับหลักทรัพย์มาโดยนิติเหตุหรือจากการยึดทรัพย์ตามคำพิพากษาของศาล 

ขณะที่หุ้นในกลุ่มบริษัทเดวิสทั้ง 4 แห่งดังกล่าว กระทรวงการคลังได้รับโอนตามคำสั่งสำนักงาน ปปง. เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2555 ตามคำพิพากษาศาลฎีกา และได้เปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นเป็นกระทรวงการคลังตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2555

ปัจจุบันกระทรวงการคลังมีนโยบายที่จะขายหลักทรัพย์ที่หน่วยงานของรัฐไม่จำเป็นต้องถือครองออกไป แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1) หุ้นที่ได้รับมาโดยนิติเหตุหรือยึดทรัพย์

2) หุ้นที่หมดความจำเป็นตามนโยบายของภาครัฐ และ

3) หุ้นในบริษัทในอุตสาหกรรมที่เอกชนดำเนินการได้ดีอยู่แล้ว ทั้งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และที่ไม่ได้จดทะเบียนใน ตลท.

ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 เห็นชอบในการจำหน่ายหลักทรัพย์ที่ไม่จำเป็นต้องถือครองตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และเห็นชอบให้กระทรวงการคลังพิจารณาวิธีการจำหน่ายและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายหลักทรัพย์ในทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาครัฐ

รวมถึงหุ้นของกลุ่มบริษัทเดวิสทั้ง 4 แห่ง ซึ่งกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาจำหน่ายออก ตามมติ ครม. ดังกล่าว และคาดว่าจะขายหุ้นได้ภายในปีนี้

 

ตั้งเป้าปีนี้เคลียร์หลักทรัพย์ได้รับโอนจากการถูกยึด 24 บริษัท 

ปัจจุบันกระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างการพิจารณาจำหน่ายหลักทรัพย์ที่รัฐไม่จำเป็นต้องถือครองตามมติ ครม. และจะดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การจำหน่ายหลักทรัพย์ที่รัฐไม่จำเป็นต้องถือครอง ซึ่งเป็นแผน 5 ปี (2561-2565) โดยกลุ่มแรกที่มีแผนจะขายมีจำนวนทั้งสิ้น 24 บริษัท ซึ่งล้วนได้มาจากการยึดทรัพย์ และกลุ่มบริษัทเดวิสทั้ง 4 แห่งอยู่ในจำนวนนี้ด้วย  

ในจำนวน 24 บริษัทนี้ แบ่งเป็นบริษัทที่มีมูลค่าน้อย 20 แห่ง (รวม 4 แห่งของกลุ่มบริษัทเดวิส) และอีก 4 บริษัทซึ่งมีมูลค่ามาก ซึ่งต้องมีการตรวจสอบสถานะทางการเงิน หรือทำ Due Diligence โดยแต่งตั้งให้บริษัทหลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน 

จนถึงขณะนี้พบว่า กระทรวงการคลังถือครองหลักทรัพย์ทั้งสิ้น 116 แห่ง แบ่งเป็น บริษัทเอกชน 88 แห่ง รัฐวิสาหกิจ 23 แห่ง กองทุนรวมต่าง ๆ 5 แห่ง

โดยในบริษัทเอกชนที่คลังถือหุ้น 88 แห่งนั้น เป็นบริษัทที่ล้ม ล้าง เลิกกิจการแล้ว 33 แห่ง ซึ่งอยู่ระหว่างรอการเคลียร์ทางบัญชี ส่วนอีก 55 แห่ง อยู่ระหว่างรอจัดกลุ่ม 3 ประเภทตามมติ ครม. ดังที่กล่าวถึงข้างต้น และในจำนวนนี้มี 24 แห่งที่เป็นกลุ่มที่ได้รับมาจากการถูกยึดทรัพย์ และจะเป็นกลุ่มแรกที่มีเป้าหมายขายหุ้นออกไปให้ได้ภายในปีนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook