เปิดขายยางพาราแปรรูปในปั๊มน้ำมัน ปตท. แก้ปัญหาราคาตก
นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า กยท. ได้รับความร่วมมือจาก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการให้พื้นที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท. เป็นจุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากยางพารา เพิ่มช่องทางการจำหน่าย
โดยในระยะแรกจะเริ่มเปิดจุดให้บริการจำนวน 14 แห่ง ในพื้นที่แหล่งปลูกยาง ซึ่งจะเริ่มจำหน่ายได้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ราคายางในประเทศปรับตัวดีขึ้น จากปัจจุบันราคายางแผ่นรมควัน ชั้น 3 อยู่ที่กิโลกรัมละ 50 บาท
ขณะที่รัฐบาลยังคงมีมาตรการช่วยเหลือออกมาทั้งเงินสนับสนุนในการแปรรูป และมาตรการใช้ยางในประเทศ ขณะนี้อยู่ในช่วงใกล้ปิดกรีด เชื่อว่าทำให้ปริมาณยางน้อยลง ทำให้ราคาขยับสูงขึ้น โดยมีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนการใช้ยางในประเทศจาก 10% เป็น 30% ภายใน 5 ปี อีกด้วย
ปตท. นำร่อง 14 สถานีบริการน้ำมัน จัดจุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาง
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท. ได้นำร่องเปิดสถานีบริการน้ำมัน 14 แห่ง ในจังหวัดที่เพาะปลูกยาง ให้เป็นจุดจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพารา เช่น หมอนยางพาราและรองเท้า ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีช่องทางในการจำหน่ายได้มากขึ้น ในอนาคตมีโอกาสที่จะขยายพื้นที่ช่องทางจำหน่ายให้กับเกษตรกรได้มากขึ้นอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม โครงการ "จุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางพาราช่วยพัฒนาเกษตรกรไทย" ในครั้งนี้ จะเป็นโอกาสและเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายให้กับชาวสวนยาง ทำให้มีรายได้ดีขึ้น และลดค่าใช้จ่ายในการหาพื้นที่จำหน่ายของเกษตรกรได้อีกด้วย
ผู้ว่าการยางฯ ยันเดินหน้าทำหน้าที่แก้ปัญหาต่อ
จากการที่เครือข่ายสถาบันชาวสวนยางภาคใต้ ประกาศนัดรวมตัวขับไล่ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เพราะเชื่อว่าทำให้ราคายางตกต่ำ รวมถึงมาตรการดำเนินการต่าง ๆ ไม่เป็นไปตามข้อเรียกร้องของเกษตรกรชาวสวนยาง
นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ระบุว่า หลาย ๆ มาตรการที่รัฐบาลพยายามดำเนินการขณะนี้ ทั้งการสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียน และการเร่งผลักดันการใช้ยางในประเทศ ส่งผลให้ราคายางปรับตัวดีขึ้นแล้ว และในประเด็นที่เครือข่ายสถาบันชาวสวนยางภาคใต้ เรียกร้องให้บริษัทร่วมทุนธุรกิจยางที่ กยท. ถือหุ้นร่วมกับ 5 เสือการยาง ยกเลิกการเข้าประมูลซื้อขายยางในตลาดกลางแบบหมุนเวียน โดยขอให้เข้าประมูลทุกตลาด เพราะทำให้ราคายางลดลงนั้น ไม่สามารถทำได้
เพราะวัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเป็นการเข้าซื้อยางเพื่อให้ราคานำตลาด ไม่ได้จัดตั้งเพื่อจัดเก็บเป็นสต๊อกรัฐบาลแต่อย่างใด