สตง. บอกปัดไม่ใช่สาเหตุทำซื้อขายเปลี่ยนมือรถคันแรกมีปัญหา
นายพรชัย จำรูญพานิชย์กุล รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน/รักษาการแทนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏข่าวทางสื่อออนไลน์ว่า มีเจ้าของรถยนต์ที่เข้าร่วมโครงการมาตรการรถยนต์คันแรกหลายรายไม่สามารถโอนรถให้กับบุคคลอื่นได้ เนื่องจากข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์แจ้งว่ารถคันดังกล่าวถูกกรมสรรพสามิตระงับการโอนสิทธิ
ขณะที่ กรมสรรพสามิตชี้แจงว่า รถคันดังกล่าวอยู่ในข่ายกำลังถูกตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ว่าทำผิดเงื่อนไขการขอรับสิทธิหรือไม่ พร้อมระบุว่า สตง. มีข้อสงสัยเรื่องการดำเนินการของกรมสรรพสามิตในการพิจารณาอนุมัติให้สิทธิรถยนต์คันแรกแก่ประชาชนจำนวนกว่า 100,000 ราย
เนื่องจากตรวจพบว่าประชาชนกลุ่มดังกล่าวยื่นเอกสารเพิ่มเติมให้กรมสรรพสามิตพิจารณาเกินระยะเวลาตามเงื่อนไขการขอใช้สิทธิที่กำหนดให้ยื่นเอกสารภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2555 และหาก สตง. สรุปผลการตรวจสอบว่าประชาชนผู้ขอใช้สิทธิกว่า 100,000 รายทำผิดเงื่อนไข จะต้องนำเงินภาษีมาคืนกรมสรรพสามิตทั้งหมดนั้น
สตง. ขอชี้แจงว่า สำหรับกรณีของโครงการมาตรการรถยนต์คันแรกนั้น สตง. ได้ดำเนินการตรวจสอบเสร็จสิ้นตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 แล้ว และได้เสนอรายงานฉบับสมบูรณ์ให้กรมสรรพสามิตเพื่อดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ สตง. ในช่วงเดือน มี.ค. 2559
ดังนั้น ข้อมูลที่ปรากฏทางสื่อออนไลน์ว่า กรณีเจ้าของรถยนต์หลายรายไม่สามารถโอนรถให้กับบุคคลอื่นได้ โดยมีการพาดพิงว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในข่ายกำลังถูกตรวจสอบจาก สตง. จึงไม่เป็นความจริง
นอกจากนี้ ข่าวดังกล่าวยังมีประเด็นที่คลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง โดยเฉพาะกรณีที่ระบุว่า สตง. มีข้อสงสัยเรื่องการดำเนินการของกรมสรรพสามิตในการพิจารณาอนุมัติให้สิทธิรถยนต์คันแรกแก่ประชาชนจำนวนกว่า 100,000 ราย เนื่องจากตรวจพบว่าประชาชนกลุ่มดังกล่าวยื่นเอกสารเพิ่มเติมให้กรมสรรพสามิตพิจารณาเกินระยะเวลาตามเงื่อนไขการขอใช้สิทธิ ที่กำหนดให้ยื่นเอกสารภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2555
จากรายงานการตรวจสอบของ สตง. ด้วยการสุ่มตรวจผู้ขอใช้สิทธิจากโครงการฯ จำนวน 4,340 ราย พบว่า
1) ผู้ขอใช้สิทธิยื่นเอกสารหลักฐานไม่ทันภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2555 จำนวน 1,640 ราย
2) ยื่นเอกสารโดยไม่มีใบจองหรือยื่นเอกสารเพิ่มเติมเกิน 90 วันนับถัดจากวันรับมอบรถยนต์ จำนวน 2 ราย และ
3) ผู้ขอใช้สิทธิยื่นเอกสารหลักฐานเพื่อประกอบคำขอใช้สิทธิไม่ถูกต้อง หรือไม่ใช่เอกสารของผู้ใช้สิทธิ เช่น อายุไม่ถึง 21 ปี รับรถยนต์ไม่ตรงรุ่น/หมายเลขเครื่องยนต์ ฯลฯ จำนวน 6 ราย
ซึ่งถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีและแนวทางที่กำหนด รวมทั้งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,648 ราย ซึ่งทั้ง 3 กรณีดังกล่าว ผู้ขอใช้สิทธิได้รับสิทธิคืนภาษีไปแล้วทั้งหมด
ดังนั้น สตง. จึงได้มีข้อเสนอแนะให้กรมสรรพสามิตตรวจสอบเอกสารหลักฐานของผู้ได้สิทธิทั้งหมด หากพบว่าไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีและแนวทางที่กำหนด และไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ให้ดำเนินการสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม หากพบว่าเป็นการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ ให้ดำเนินการตามควรแก่กรณี แต่หากเป็นการกระทำผิดของผู้ขอใช้สิทธิให้เรียกเงินภาษีคืน
ต่อมา กรมสรรพสามิตได้มีหนังสือแจ้งผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ สตง. รวมจำนวน 16 ฉบับ โดยหนังสือฉบับล่าสุด ลงวันที่ 4 ส.ค. 2560 ชี้แจงว่า กรมสรรพสามิตได้ดำเนินการตรวจสอบเอกสารหลักฐานของผู้ใช้สิทธิที่ได้รับสิทธิคืนเงินตามโครงการฯ ไปแล้วทั้งสิ้น 1,020,162 ราย หรือคิดเป็น 92.5% ของผู้ใช้สิทธิที่ได้รับเงินคืนแล้ว
อีกทั้งพบว่า มีผู้ขอใช้สิทธิไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีและไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด จำนวน 52 ราย ประกอบด้วย
1) ผู้ขอใช้สิทธิยื่นเอกสารเพิ่มเติมเกิน 90 วัน จำนวน 37 ราย และ
2) ผู้ขอใช้สิทธิไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด จำนวน 15 ราย แบ่งเป็น รับมอบรถยนต์ไม่ตรงรุ่น จำนวน 6 ราย อายุไม่ครบ 21 ปีบริบูรณ์ จำนวน 1 ราย และยื่นเอกสารก่อนเริ่มโครงการ จำนวน 8 ราย
โดยผลการตรวจสอบดังกล่าวของกรมสรรพสามิตไม่ปรากฏข้อมูลกรณีการยื่นเอกสารหลักฐานไม่ครบภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2555 ตามที่เป็นข่าวแต่ประการใด
ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่กรมสรรพสามิตจะต้องพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป