ภารกิจผู้บริหารเครือเนชั่นยุคใหม่ หยุดขาดทุน-เลิกลดคน

ภารกิจผู้บริหารเครือเนชั่นยุคใหม่ หยุดขาดทุน-เลิกลดคน

ภารกิจผู้บริหารเครือเนชั่นยุคใหม่ หยุดขาดทุน-เลิกลดคน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากก่อนหน้านี้มีข่าวคราวมาโดยตลอดถึงความเปลี่ยนแปลงของ เครือเนชั่น สื่อยักษ์ใหญ่ย่านบางนา โดยเฉพาะการประกาศเกษียณอายุการทำงานของ 'สุทธิชัย หยุ่น' ผู้ก่อตั้งอาณาจักรสื่อแห่งนี้

ล่าสุดมีรายงานว่า คณะผู้บริหารชุดใหม่ของบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งขอพบพนักงานในเครือเนชั่น เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2561 ที่ผ่านมา โดยถือเป็นการชี้แจงทิศทางและนโยบายการบริหารงานครั้งแรก

ผู้บริหารชุดใหม่ประกอบด้วย 'มารุต อรรถไกวัลวที' ประธานกรรมการเครือเนชั่น, สมชาย มีเสน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2561

นอกจากนี้ ยังรวมถึง สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม ที่เข้ามาเป็นกรรมการ บมจ.เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป และยังเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ NBC ซึ่งเป็นธุรกิจในเครือที่ดูแลการดำเนินงานของเนชั่นทีวีช่อง 22

ขณะที่ เทพชัย หย่อง อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารเครือเนชั่น ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งไปแล้วก่อนหน้านี้ โดยให้เหตุผลว่าต้องไปผ่าตัดหัวเข่า

ทางผู้บริหารชุดใหม่ได้แจ้งต่อพนักงานว่า ในช่วงการดำเนินธุรกิจ 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทเนชั่นฯ แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่าประสบปัญหาขาดทุนหลายพันล้านบาท จึงทำให้บริษัทฯ มีหนี้สินที่ต้องชำระทั้งหมด 1,580 ล้านบาท

โดยสาเหตุการขาดทุนมาจากภาวะถดถอยของสื่อที่ผู้บริโภคหันไปเสพข่าวโซเชียลแทน การบริโภคสื่อประเภทอื่น โดยเฉพาะช่อง NOW26 ที่ขาดทุนมาโดยตลอด ผู้บริหารชุดใหม่จึงต้องตัดให้เหลือทีวีเพียงช่องเดียวคือ Nation 22

ทั้งนี้ ผู้บริหารชุดใหม่กำลังคิดแผนดำเนินธุรกิจใหม่ โดยจะตัดธุรกิจที่ไม่ก่อให้เกิดกำไรออกไป คือ ธุรกิจที่ประกาศขายไปก่อนหน้านี้ เช่น มหาวิทยาลัยเนชั่น โลจิสติกส์ สื่อสิ่งพิมพ์ ที่ดิน โดยสื่อสิ่งพิมพ์ ทั้งหนังสือพิมพ์คมชัดลึก และหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กำลังพิจารณาว่าจะตัดออกหรือไม่ แต่แม้ตัดออกก็จะหันไปทำสื่อออนไลน์แทนเพื่อให้ยังคงชื่ออยู่

ส่วน เนชั่นทีวี ช่อง 22 มีรายได้ 35 ล้านบาทต่อเดือน รายจ่าย 42 ล้านบาทต่อเดือน ต้องวางแผนเพื่อให้รายได้กับรายจ่ายสมดุลกัน ในอนาคตจะมีการนำเนื้อหาข่าวทั้งหมดมาทำอีเวนต์ และนำอีเวนต์มาสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งหากดูบริษัทอื่น ก็มีการทำอีเวนต์เพิ่มเช่นกัน เพราะพึ่งพาการขายโฆษณาเพียงอย่างเดียวคงทำได้ยาก

ผู้บริหารชุดใหม่ตั้งเป้าว่าจะหยุดการขาดทุนได้ในปี 2561 และถ้าทำได้จะทำให้มีกำไรในปี 2562 และยกเลิกนโยบายเออร์ลี่รีไทร์พนักงาน เพราะก่อนหน้านี้ได้จ่ายเงินชดเชยไปกว่า 300 ล้านบาท ทำให้คนเก่ง ๆ รั่วไหลออกไปหมด รวมทั้งทำให้เสียงบประมาณจำนวนมาก

พร้อมยืนยันหนักแน่นจะไม่มีนโยบายนำพนักงานเก่าออก แต่อาจจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานใหม่ เช่น บางคนที่เคยทำสื่อสิ่งพิมพ์ก็หันมาทำออนไลน์แทน แต่จะไม่เปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่ แค่เปลี่ยนบทบาท การบริหารงาน เพราะต้องทำให้องค์กรอยู่ได้ก่อน

ส่วนโครงสร้างการทำงาน ผู้บริหารชุดใหม่ยืนยันว่าจะไม่ปรับเปลี่ยนทิศทางการนำเสนอข่าวอย่างแน่นอน ซึ่งก่อนหน้านี้มุ่งแต่เสนอข่าวเพื่อหวังให้เรตติ้งสูง หลังจากนี้จะปรับให้เป็นไปตามจุดแข็งเดิม ด้วยการเสนอข่าวตามรูปแบบของเนชั่นเดิม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook