บริหารเงินสไตล์ 'เป็กกี้ ศรีธัญญา' และ 'กัน นภัทร'
เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ จัดงานสัมมนาให้ความรู้ด้านการบริหารเงินภายใต้ชื่อ “Krungsri First Choice : Exclusive Financial Literacy” (กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ : หลักสูตรพิเศษเรื่องการบริหารการเงิน) ตอน เคล็ด(ไม่)ลับเรื่องการเงิน เดอะเรียลลิตี้
ภายในงานมีแขกรับเชิญพิเศษที่เป็นศิลปินชื่อดัง 2 ท่านคือ เป็กกี้ ศรีธัญญา หรือ ดรุณี สุทธิพิทักษ์ และ กัน-นภัทร อินทร์ใจเอื้อ มาร่วมพูดคุยกับกูรูด้านการเงิน
Sanook! Money ขอนำเคล็ดลับการบริหารเงินของคนดังวงการบันเทิงทั้งคู่มาฝากกัน เริ่มกันที่ เป็กกี้ ศรีธัญญา เล่าว่า “เป็กกี้เป็นคนที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการบริหารเงินมากค่ะ เพราะเราเริ่มมาจากศูนย์จริง ๆ ตอนอายุได้ 17 ปี คุณแม่เสีย บ้านก็โดนยึด ทำธุรกิจอะไรก็ไม่เป็น ตอนนั้นมีเงินติดตัวอยู่แค่ 5 บาท รู้สึกเลยว่าเงินทุกบาททุกสตางค์นั้นมีค่าจริง ๆ ดังนั้นช่วงที่เป็กกี้เริ่มทำงานหาเงินตั้งตัว ก็จะเก็บเงินออมไว้ พอได้รับเงินมาก็แบ่งส่วนหนึ่งเก็บไว้เป็นเงินออมเลย แล้วค่อยมาดูว่ารายจ่ายมีอะไรที่จำเป็นหรือไม่จำเป็นบ้าง ตอนนี้เก็บเงินออมสำรองไว้ให้ตัวเองใช้ได้ 5 ปี เพราะเราไม่รู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น ยิ่งอาชีพอย่างเราไม่ใช่เป็นงานประจำ ไม่รู้ว่าช่วงไหนจะมีงานหรือไม่มีงาน เลยคิดว่าเงินออมเป็นสิ่งสำคัญมากค่ะ”
ขณะที่ศิลปินชื่อดัง กัน-นภัทร อินทร์ใจเอื้อ กล่าวว่า “ผมเติบโตในครอบครัวข้าราชการครับ เลยค่อนข้างจะมีวินัยด้านการใช้เงินพอสมควร เพราะคุณพ่อคุณแม่ปลูกฝังให้รู้จักคุณค่าของเงินมาตั้งแต่เด็ก โดยทุกอย่างเริ่มต้นจากการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย สมัยก่อนก็จะจดลงสมุดแต่สมัยนี้ก็จดลงในโทรศัพท์มือถือ ง่ายและสะดวกขึ้นเยอะเลยครับ สำหรับใครที่เพิ่งเริ่มทำรายรับรายจ่ายใหม่ ๆ ช่วงแรกก็คงมีลืมกันบ้าง และอาจจะรู้สึกติดขัด แต่ทำไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวเราก็จะคุ้นชินไปเอง อาจต้องพยายามหน่อยในช่วงแรก แต่อยากให้ทำ เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากในอนาคตของเรา นอกจากการทำบัญชีรายรับรายจ่ายแล้ว ก็อย่าลืมเรื่องการออมเงิน เพราะเราไม่รู้ว่าอนาคตของเราข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ดังนั้นเราควรมีเงินสำรองฉุกเฉินเพื่อเอาไว้ใช้ในอนาคตครับ”
ด้านกูรูที่มาร่วมพูดคุยกับศิลปินดังทั้งสองท่าน ก็มีเคล็ดลับการบริหารเงินมาฝากเช่นกัน เริ่มที่กูรู ต้าร์-กวิน สุวรรณตระกูล ซึ่งแนะนำแบบเดียวกับ กัน นภัทร ว่า ทุกอย่างควรเริ่มจากการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย โดยหลักการง่าย ๆ คือ พอมีรายได้ให้หักเป็นเงินออมไว้ก่อน 20% แล้วเมื่อมีเงินเหลือจากการนำไปใช้จ่าย ก็นำไปออมเพิ่มหรือลงทุนเพิ่ม เช่น การซื้อประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ การซื้อกองทุนรวม หรือ การเล่นหุ้น เพื่อให้เงินเก็บของเรางอกเงยขึ้นมา
ด้านกูรูอีกท่าน ปา-ปาจารีย์ ปานขาว กล่าวแนะเพิ่มเติมว่า ถ้าใครที่มีหนี้ ควรแบ่งความสำคัญของหนี้เป็นลำดับ ให้พยายามชำระหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงให้หมดก่อน หรือจะใช้อีกหนึ่งเทคนิคก็ได้ เป็นเทคนิคที่เรียกว่า หนี้ก้อนหิมะ (Debt Snowball Method) คือการชำระหนี้โดยเริ่มจากหนี้ที่มียอดเงินน้อยที่สุดก่อนเพื่อให้จำนวนเจ้าหนี้ลดลง และไม่ควรสร้างหนี้ให้เกิน 30% ของรายรับเรา
ถือเป็นงานสัมมนาดี ๆ อีกหนึ่งงานที่ กรุงศรีเฟิร์สช้อยส์ จัดขึ้นเพื่อให้ความรู้ด้านการบริหารเงิน เพื่อที่จะสามารถนำความรู้ที่ได้รับ ไปต่อยอดใช้ในชีวิตประจำวัน
อัลบั้มภาพ 15 ภาพ