วิธีเลี้ยงหอยขมในกระชังเพื่อสร้างรายได้
การเลี้ยงหอยขมในกระชัง เป็นวิธีการเลี้ยงที่ค่อนข้างง่าย ลงทุนต่ำ และสะดวกในการเลี้ยงมากที่สุด จึงเป็นวิธีที่นิยมกันมาก และที่สำคัญยังสามารถประยุกต์เลี้ยงกับสัตว์น้ำอื่น ๆ ได้ เช่น แขวนกระชังเลี้ยงร่วมกันในบ่อเลี้ยงปลานิล หรือบ่อเลี้ยงปลาชนิดอื่น ๆ ได้ ซึ่งเป็นรูปแบบการเลี้ยงที่สร้างรายได้ระหว่างการเลี้ยงสัตว์น้ำอื่น ๆ ได้อย่างลงตัว
วิธีการ
ใช้ตาข่ายไนลอนตาถี่เย็บเป็นกระชังขนาด 1.5x2 เมตร (หรือที่มีขายแบบสำเร็จขนาด 2x2 เมตรก็ได้) นำกระชังไปผูกในแหล่งน้ำ โดยใช้ไม้ไผ่ปักเป็นเสาผูกกระชัง 4 มุม ทั้งด้านบนและด้านล่างของกระชัง ป้องกันไม่ให้ก้นกระชังลอย ขอบบนของกระชังให้อยู่เหนือน้ำประมาณ 20-30 เซนติเมตร อย่าให้ก้นกระชังติดพื้น เพราะจะทำให้ก้นกระชังจมโคลนจะจัดการการเลี้ยงได้ยาก หลังจากผูกกระชังเรียบร้อยแล้ว ให้นำทางมะพร้าวสดขนาด 1 เมตร ใส่ลงไป 2-3 ทาง ให้ทั่วกระชัง พยายามอย่าให้ทับกัน เพราะกระชังจะขาดได้
เตรียมพันธุ์หอยขม กระชังละ 5 กิโลกรัม อาจรวบรวมจากแหล่งน้ำธรรมชาติและในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำทั่วไป แต่ควรเลือกตัวที่มีขนาดใหญ่ ไซส์เดียวกับที่นำมาบริโภคได้ แล้วนำหอยขมที่รวบรวมได้ล้างทำความสะอาดและขังหอยทิ้งไว้ 1 วัน เพื่อให้หอยคายตะกอนออกมา ขณะเดียวกันก็คัดเลือกหอยขมที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยสังเกตได้จากการนำหอยขมไปแช่น้ำทิ้งไว้ ถ้าหอยขมคว่ำตัวติดกับภาชนะแสดงว่าหอยขมยังมีชีวิตอยู่
หลังจากปล่อยหอยขมลงเลี้ยงในกระชังแล้ว ประมาณวันที่ 2 ให้ลองยกทางมะพร้าวขึ้นมาดู จะเริ่มเห็นหอยขมตัวเล็ก ๆ เกาะอยู่ตามทางมะพร้าว ซึ่งทางมะพร้าวนอกจากเป็นที่เกาะของหอยขมแล้ว ทางมะพร้าวที่ผุพังยังเป็นอาหารของหอยได้ด้วย นอกจากนี้หอยขมก็จะเกาะกินตะไคร่น้ำที่อยู่ตามทางมะพร้าว รวมทั้งบริเวณด้านข้างและก้นกระชัง ซึ่งไม่จำเป็นต้องให้อาหารหอยขมก็อยู่ได้ แต่เพื่อให้หอยมีอัตราการเจริญเติบโตและให้ผลผลิตที่ดี สม่ำเสมอ ควรเสริมด้วยรำละเอียดปั้นเป็นก้อน โยนลงในกระชัง 3 วัน/ครั้ง ทำให้หอยมีคุณภาพที่ดีขึ้น
หลังจากปล่อยพ่อแม่พันธุ์หอยได้ประมาณ 2 เดือน ก็ทยอยจับหอยขมขึ้นมาขายได้ วิธีการจับทำได้โดย ยกทางมะพร้าวขึ้นมาหรือบริเวณด้านข้างกระชัง ซึ่งมีหอยขมติดขึ้นมาด้วย สามารถคัดเลือกหอยได้ตามขนาดและปริมาณที่ต้องการ หรือนำวัสดุอื่น ๆ ใส่ลงกระชังอย่างเช่น ยางรถจักรยานยนต์ หอยขมก็จะมาเกาะเต็มไปหมด ช่วยให้การเก็บหอยทำได้ง่ายขึ้นเช่นกัน กระชังหนึ่งได้ผลผลิตประมาณ 10 กิโลกรัม
ไม่ควรปล่อยหอยขมอยู่ในกระชังนานเกินไป เพราะทำให้มีจำนวนหอยหนาแน่น ทำให้ตัวเล็ก ๆ เจริญเติบโตช้า และสิ่งสำคัญระหว่างการเลี้ยงคือ การดูแลคุณภาพน้ำให้ดีอยู่เสมอ โดยการเติมน้ำหมักจุลินทรีย์ลงในบ่อเพื่อป้องกันน้ำในบ่อเน่าเสีย ควรดูระดับน้ำในบ่ออย่าให้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะถ้าระดับน้ำสูงเกินปากกระชัง จะทำให้หอยขมหนีออกนอกกระชังได้
ส่วนศัตรูที่สำคัญของหอยขม โดยเฉพาะลูกอ่อน ได้แก่ ปลาไหล ปลาดุก ตะพาบน้ำ และยาปราบศัตรูพืช จึงต้องระมัดระวังในเรื่องนี้ด้วย
การเลี้ยงหอยขมในกระชัง สามารถเก็บผลผลิตได้ 2 รูปแบบ อย่างแรกคือ ระหว่างการเลี้ยงก็ทยอยเก็บหอยขมที่ได้ขนาด ออกมาบริโภคหรือจำหน่ายไปเรื่อย ๆ เป็นรูปแบบที่ใช้เวลาในการจัดการดูแลน้อย แต่ทว่าอาจประเมินจำนวนของผลผลิตได้ยาก อีกรูปแบบหนึ่งก็คือ จะรวบรวมลูกหอยจากกระชังเดิม ทุก ๆ 15 วัน เพื่อมาเลี้ยงรวมกันอีกกระชังหนึ่ง โดยปล่อยในอัตรา 300-400 ตัว/ตารางเมตร ซึ่งทำให้ลูกหอยมีอายุเท่ากัน ขนาดตัวใกล้เคียงกัน ทำตลาดได้ง่าย