วิธีเลี้ยงสุกรพันธุ์จินหัว (Jinhua) ยอดหมูสำหรับผลิตแฮม
'สุกรพันธุ์จินหัว' มีถิ่นกำเนิดในจังหวัด Zhejiang มณฑลเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เป็นสุกรที่มีรูปร่างขนาดกลาง หูขนาดปานกลางและปรก ส่วนหลังแอ่นเล็กน้อย ลักษณะเด่นมีลำตัวสีขาวและมีสีดำที่ส่วนหัวกับสะโพก จึงทำให้เป็นที่รู้จักกันในชื่อของ "two end black" นอกจากนี้ยังรู้จักกันดีในชื่อ “Jinhua Ham” เนื่องจากนิยมนำเนื้อส่วนสะโพกมาแปรรูปเป็นแฮม เพราะเนื้อของสุกรชนิดนี้มีลักษณะหนังบาง กระดูกเล็ก และให้เนื้อที่มีความนุ่มดีมาก
ในประเทศไทย ฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ บ้านยางกลาง ตำบลสีบัวทอง อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง เป็นหนึ่งในฟาร์มตัวอย่างที่ได้รับสุกรจินหัวมาในปี พ.ศ. 2550 และเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน มีปริมาณสุกรจินหัวพันธุ์แท้และลูกผสมกว่า 30 ตัว โดยวิธีการเลี้ยงสุกรจินหัวภายในฟาร์มตัวอย่างแห่งนี้ มีอยู่ 2 รูปแบบ คือ 1. การเลี้ยงเพื่อรักษาสายพันธุ์ 2. การผลิตสุกรขุนลูกผสมเพื่อให้ได้คุณสมบัติของเนื้อสุกรตามที่ตลาดต้องการ
สำหรับในส่วนของพ่อพันธุ์ที่นำมาผสมจะใช้สายพันธุ์ปากช่องกับลาร์จไวท์เป็นหลัก ลูกผสมที่ได้จะมีขนาดใหญ่กว่าสุกรจินหัวพันธุ์แท้ที่จัดเป็นสุกรขนาดกลาง ซึ่งการผสมส่วนใหญ่ใช้วิธีผสมจริง โดยนำพ่อพันธุ์แท้ข้างต้นผสมกับแม่พันธุ์หมูจินหัวที่มีเลือดแท้อยู่ 25% เพื่อให้ได้ลูกสุกรจินหัวที่มีเลือดแท้ 12.5% ตามต้องการ
แม่สุกรจินหัวจะใช้เวลาตั้งท้องนาน 3 เดือนครึ่ง และตกลูกคอกหนึ่งไม่ต่ำกว่า 10 ตัว เป็นจุดเด่นของสุกรสายพันธุ์นี้ หากเทียบกับสุกรทั่วไปที่ให้ลูกได้คอกหนึ่งไม่ถึง 10 ตัว อีกทั้งหลังคลอด ลูกสุกรจะถูกเลี้ยงอยู่กับแม่สุกรจนกระทั่งหย่านม ระยะเวลาประมาณสัปดาห์ที่ 3 ถึงแยกออกมาเลี้ยงในคอกอนุบาลได้ ในช่วงแรกเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลจะให้อาหารสำเร็จรูปที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีนสูงแก่ลูกสุกร ซึ่งการให้อาหารจะเป็นไปตามโปรแกรมแบบเดียวกับการเลี้ยงสุกรทั่วไป
ลูกสุกรจะถูกเลี้ยงอยู่ในคอกอนุบาลประมาณ 2 เดือน ก่อนย้ายไปยังโรงเรือนสุกรขุนเพื่อเลี้ยงต่อไปอีก 4-5 เดือน ถึงพร้อมจับจำหน่ายได้ ซึ่งในระยะสุกรขุนจะต้องมีการปรับเปลี่ยนอาหาร จากอาหารสำเร็จรูปมาเป็นการใช้วัตถุดิบที่หาได้ง่ายภายในท้องถิ่น เช่น กากถั่วเหลือง ข้าวโพดบด ผสมกับหัวอาหาร เพื่อช่วยลดต้นทุนการให้อาหารสำเร็จรูปเพียงอย่างเดียวไปได้อย่างน้อย 10-15%
วิธีการดูแล ในแต่ละวันจะมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลทำความสะอาด ให้อาหารสุกรเช้า-เย็น รวมถึงดูแลสภาพทั่วไปของโรงเรือนว่ามีอะไรชำรุดเสียหายหรือไม่ และที่เพิ่มเติมเข้ามาสำหรับเจ้าหน้าที่ดูแลโรงเรือนพ่อแม่พันธุ์ คือการหมั่นสังเกตอาการของแม่สุกรว่าพร้อมจะผสมพันธุ์แล้วหรือไม่ โดยดูจากน้ำเมือกในบริเวณช่องคลอดและอาการกระวนกระวายของแม่พันธุ์ และหากพบต้องรีบแจ้งทันที เพราะถ้าไม่รีบผสมในช่วงเวลาดังกล่าวที่มักกินเวลาเพียง 1-2 วัน ก็ต้องรอให้แม่สุกรพร้อมผสมพันธุ์อีกครั้งในเดือนถัดไป
ทั้งนี้โดยเฉลี่ยแล้วใน 1 เดือน ที่ฟาร์มตัวอย่างฯ จะผสมพันธุ์สุกรประมาณ 2 แม่ และมีสุกรขุนส่งให้กับทางกรมปศุสัตว์นำไปแปรรูปเดือนละ 10-15 ตัว บางส่วนก็ชำแหละขายในราคาย่อมเยาให้เจ้าหน้าที่ของทางฟาร์มหรือชาวบ้านในท้องถิ่น ส่วนเรื่องการขายลูกพันธุ์ อาจไม่สามารถทำได้ เพราะด้วยข้อตกลงกับทางรัฐบาลจีนที่เป็นผู้น้อมเกล้าถวายสุกรสายพันธุ์นี้เพื่อการศึกษาวิจัยและสร้างงานในท้องถิ่นเท่านั้น
อัลบั้มภาพ 6 ภาพ