'ฮาร์ทบีท' ลูกอมวาเลนไทน์พันล้าน

'ฮาร์ทบีท' ลูกอมวาเลนไทน์พันล้าน

'ฮาร์ทบีท' ลูกอมวาเลนไทน์พันล้าน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นอกเหนือจากดอกกุหลาบและชอคโกแลตแล้ว เชื่อว่าสมัยเด็ก ๆ หลายคนคงเคยผ่านประสบการณ์การได้รับสติกเกอร์รูปหัวใจแปะเต็มตัวไปหมด รวมทั้งลูกอมรูปหัวใจด้วยเช่นกัน

Sanook! Money กำลังหมายถึงลูกอมฮาร์ทบีท สื่อรักรูปหัวใจ นั่นเอง

ฮาร์ทบีทเกิดขึ้นมาตั้งแต่ 30 ปีก่อน จนถึงตอนนี้คนไทยใช้ฮาร์ทบีทเป็นสื่อรักไปแล้วมากกว่า 2,000 ล้านเม็ด ปัจจุบันตลาดลูกอมของไทยมีมูลค่า 8,000 ล้านบาท จากลูกอมเม็ดละไม่ถึงบาทแต่มียอดรวมของตลาดถึง 8,000 ล้านบาท นับว่าไม่ธรรมดา

บริษัท เยเนอรัลแคนดี้ จำกัด จัดตั้งเมื่อมีนาคม 2526 ด้วยทุนจดทะเบียน 55 ล้านบาท ปัจจุบันเพิ่มเป็น 100 ล้านบาท ผลประกอบการช่วงที่ผ่านมาเป็นดังนี้

ปี 59 รายได้ 683.6 ล้านบาท กำไร 9 ล้านบาท

ปี 58 รายได้ 649 ล้านบาท กำไร 1.3 ล้านบาท

ปี 57 รายได้ 800.8 ล้านบาท กำไร 11.3 ล้านบาท

ปี 56 รายได้ 844 ล้านบาท กำไร 15.2 ล้านบาท

แม้รายได้ทั้งบริษัทน่าจะไม่ได้มีแค่ลูกอมฮาร์ทบีท เพราะเยเนอรัลแคนดี้มีผลิตภัณฑ์อื่นด้วย แต่ก็น่าจะพออนุมานได้ว่าตลอดเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา ลูกอมฮาร์ทบีทเป็นลูกอมพันล้าน

คำถามข้อใหญ่ที่หลาย ๆ คนคงถามอยู่ในใจคือ ฮาร์ทบีทอยู่มากว่า 30 ปีแล้ว ถือเป็นแบรนด์เก่าแก่ของประเทศไทย

ใช้กลยุทธ์อะไรทำให้ฮาร์ทบีทยังขายได้อยู่?

ถ้าเราสังเกตจะเห็นว่าฮาร์ทบีทพยายามออกสินค้าใหม่ตลอดเวลา รวมทั้งออกสินค้า Limited Edition ในบางโอกาสด้วยเช่นช่วงวันวาเลนไทน์ที่ออกลูกอมรูปกุหลาบออกมา

ฮาร์ทบีทมีแม้กระทั่งลูกอมรส “พริก” และ รส “ขิง” กลยุทธ์การออกสินค้าแบบนี้อาจจะไม่ได้ยอดมากมายแต่ได้ใจลูกค้า!

กลยุทธ์แบบนี้เรียกว่ากลยุทธ์ Brand Revitalization ซึ่งเป็นการปรับกลยุทธ์และออกสินค้าใหม่ให้โดนใจกลุ่มลูกค้าที่เริ่มเบื่อสินค้าเดิม ๆ แบรนด์เดิม ๆ ที่เริ่มไม่มีใครพูดถึง ไม่มีใครนึกถึง ที่แย่ที่สุดคืออาจจะถึงขั้นไม่มีใครซื้อ และต้องตายไปอย่างช้า ๆ

คำตอบชัดเจนของฮาร์ทบีทคือการทำ Brand Revitalization และทำการ “ปรับตัว” อยู่ตลอดเวลานั่นเอง

เมื่อก่อนฮาร์ทบีทเน้นขายลูกอมรูปหัวใจรสผลไม้ที่มีข้อความเกี่ยวกับความรักอยู่ในแพกเกจ ในปัจจุบันจากภาวะเศรษฐกิจที่แย่ลง คู่แข่งลูกอมใหม่ ๆ จากบริษัทยักษ์ใหญ่ในต่างประเทศก็เกิดขึ้นทุกวัน ถ้าไม่ปรับตัวก็คงต้องหายไปซักวันแบบแบรนด์ดังในอดีตหลาย ๆ แบรนด์

จะว่าไปการทำธุรกิจของฮาร์ทบีทก็มีความคล้ายคลึงกับความรักที่ไม่ได้อยู่ที่ราคาเท่าไหร่แต่คุณค่าอยู่ที่การ “ปรับตัว” ทำเพื่อกันและกันมากขนาดไหน?

ถ้าฮาร์ทบีทต้องทำกลยุทธ์ Brand Revitalization ให้ลูกค้ารักอยู่อย่างต่อเนื่อง บางทีความรักก็คงต้องทำกลยุทธ์ Love Revitalization ให้คนรักของเรารับรู้ถึงความรักที่สดใสอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook