มีทรัพย์สินใกล้รถไฟฟ้า สนามบิน ทางด่วน เตรียมเสียภาษีลาภลอย

มีทรัพย์สินใกล้รถไฟฟ้า สนามบิน ทางด่วน เตรียมเสียภาษีลาภลอย

มีทรัพย์สินใกล้รถไฟฟ้า สนามบิน ทางด่วน เตรียมเสียภาษีลาภลอย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า เพื่อขยายฐานภาษีให้กว้างขึ้น เตรียมเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาจัดเก็บภาษีลาภลอย (Windfall Gain Tax) บริเวณโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ เพื่อเสนอ ครม.พิจารณาในขั้นต่อไป เนื่องจากเห็นว่าหลายประเทศ เช่น ยุโรป สหรัฐ ฮ่องกง จัดเก็บภาษีดังกล่าวแล้ว ยืนยันว่าจัดเก็บเฉพาะทรัพย์สินบริเวณโครงการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยไม่มีผลย้อนหลังไปยังโครงการลงทุนที่ผ่านมา

โดย ร่าง พ.ร.บ.ภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ พ.ศ. หรือ ภาษีลาภลอย (Windfall Gain Tax) ใช้แนวคิดจัดเก็บภาษีจากผู้ที่ได้รับประโยชน์จากมูลค่าที่ดินและห้องชุดมีราคาเพิ่มขึ้นจากโครงการสาธารณูปโภคของรัฐ หลังจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรือห้องชุดขายและมีรายได้จากส่วนต่างมูลค่าที่ดินหรือทรัพย์สิน

สาระสำคัญของภาษีลาภลอย เน้นการขายทรัพย์สินมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท ของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ห้องชุดรอจำหน่าย เน้นเฉพาะอสังหาริมทรัพย์บริเวณสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟทางคู่ ในรัศมี 2.5 กิโลเมตรโดยรอบสถานี หากเป็นท่าเรือ พื้นที่จัดเก็บรัศมี 5 กิโลเมตร ส่วนทางด่วนพิเศษ รัศมี 2.5 กิโลเมตร รอบทางขึ้นและทางลง-ทางออก ไม่ได้จัดเก็บจากอสังหาริมทรัพย์ริมทางเพราะเป็นทางระบบปิด

รวมทั้งที่ดินใกล้สนามบิน รัศมี 5 กิโลเมตร จากแนวเขตห้ามก่อสร้างของสนามบิน โดยยกเว้นจัดเก็บภาษี กรณีที่ดินที่อยู่อาศัย และที่ดินทำเกษตรกรรม กำหนดเพดานอัตราภาษี ไม่เกิน 5% ของฐานภาษี โดยคำนวณส่วนต่างของมูลค่าที่ดินหรืออสังหาฯ ที่มีราคาเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ก่อนการก่อสร้างถึงวันซื้อขายเมื่อโครงการพัฒนาแล้วเสร็จ หากไม่มีการซื้อขายจะไม่มีการจัดเก็บภาษี รายละเอียดทั้งหมดต้องรอ ครม.พิจารณา

ขณะที่ นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างศึกษาทบทวนโครงสร้างภาษีนำเข้ารถยนต์ จากเดิมได้เคยกำหนดอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์แบ่งเป็น 2 อัตรา คือ 42% และ 65% ก่อนจะปรับมาเป็นอัตราเดียวอยู่ที่ 80% และได้ใช้อัตราเดียวมาโดยตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา

การศึกษาทบทวนโครงสร้างภาษีศุลกากรนำเข้า เพื่อพิจารณาข้อดีข้อเสียในหลายด้าน ขณะที่ผู้นำเข้ารถยนต์อิสระได้เสนอให้ปรับลดอัตราการจัดเก็บภาษีลง ส่วนสภาอุตสาหกรรมฯ รวมทั้งผู้ผลิตรถยนต์ต่างคัดค้านการลดภาษี จึงต้องนำความเห็นของทุกฝ่ายมาศึกษาอย่างรอบด้าน หากปรับลดลงจะสำแดงภาษีต่ำลงหรือไม่ ราคาขายปลีกเป็นอย่างไร ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปแต่อย่างใด

ส่วนกรณีรถหรู ลัมโบกินี ปอร์เช่ เฟอรารี่ มาเซอราติ ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบจากกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ เพื่ออายัดไว้ในคลังสินค้าทัณฑ์บน 900 คันนั้น ขณะนี้กรมศุลกากรได้ขอให้แจ้งใบขนส่งออกจากต่างประเทศ ใบค้ำประกันการส่งออก เพื่อนำมาพิจารณากับราคาตลาด พิสูจน์ดูว่าสำแดงราคาสินค้าต่ำกว่าความเป็นจริงหรือไม่ ขณะนี้ได้ทยอยปล่อยรถหรูให้กับผู้นำเข้า เมื่อได้พิจารณาเอกสารจากต่างประเทศแล้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook