'แบงก์ชาติ' ชี้แจง '7-Eleven' เป็นแค่ตัวแทนแบงก์กสิกร ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงปฏิเสธ “กระแสโซเชียลมีเดีย” ที่ระบุว่า ได้อนุญาตให้ร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น ดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ทำธุรกรรมทางการเงินได้ โดยระบุว่าเป็นเพียงตัวแทนที่ธนาคารกสิกรไทย แต่งตั้งให้ทำหน้าที่แทนเท่านั้น
อ่านข่าวก่อนหน้านี้ได้ที่นี่ --> แบงก์ชาติเตรียมอนุญาตร้านสะดวกซื้อให้บริการด้านการเงิน
ก่อนหน้านี้ ธปท.ปรับปรุงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับช่องทางให้บริการของธนาคารพาณิชย์ให้มีความยืดหยุ่นเท่าทันการเปลี่ยนแปลง ด้วยการปรับหลักเกณฑ์การแต่งตั้งตัวแทนของธนาคารพาณิชย์หรือ Banking Agent และปรับรูปแบบสาขาให้ยืดหยุ่นขึ้น เพื่อช่วยให้ประชาชนได้รับการบริการที่ถูกลง ตรงความต้องการ และมีทางเลือกที่หลากหลาย
นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. ชี้แจงว่า สาเหตุที่ร้าน เซเว่นอีเลฟเว่น จะสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ เช่น ฝาก โอน ชำระค่าบริการต่าง ๆ เนื่องจากธนาคารกสิกรไทย เป็นผู้แต่งตั้งให้ร้าน เซเว่นอีเลฟเว่น เป็น Banking agent (ตัวแทนของธนาคารพาณิชย์) ทำให้สามารถสามารถรับโอนเงินจากธนาคาร และเบิกได้ในปลายทางพื้นที่ห่างไกล เป็นกรณีพิเศษ ไม่ได้มีการแต่งตั้งให้เป็นธนาคารพาณิชย์อย่างที่เป็นข่าว
“ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย ยังไม่มีนโยบายให้ใบอนุญาตประกอบธนาคารพาณิชย์แห่งใหม่เลย” นายสมบูรณ์กล่าว
ภายใต้บริบทที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกระทบต่อพฤติกรรมการใช้บริการทางการเงินของลูกค้า ตลอดจนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ในการให้บริการแก่ลูกค้าได้กว้างขึ้น
ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงปรับปรุงหลักเกณฑ์เรื่องช่องทางให้บริการของธนาคารพาณิชย์ให้มีความยืดหยุ่นและเท่าทันการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนได้รับบริการที่ถูกลง ตรงตามความต้องการ และมีทางเลือกที่หลากหลาย ในขณะที่ธนาคารพาณิชย์ก็จะสามารถให้บริการลูกค้าได้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับกลยุทธ์ของธนาคารพาณิชย์ได้ดีขึ้น
สาระสำคัญของเกณฑ์ฉบับใหม่นี้ คือ การให้ความยืดหยุ่นและคล่องตัวแก่ธนาคารพาณิชย์ในการปรับเปลี่ยนรูปแบบและช่องทางให้บริการ โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
สาขาของธนาคารพาณิชย์ จะมีรูปแบบยืดหยุ่นขึ้น ทั้งเรื่องธุรกรรม วันเวลาทำการ และให้บริการผ่านช่องทางอิเลคทรอนิกส์ หรือ Moblie Banking
การแต่งตั้งตัวแทนของธนาคารพาณิชย์ (Banking Agent) ซึ่งเป็นเรื่องที่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์แต่งตั้งได้อยู่แล้ว โดยธนาคารพาณิชย์สามารถแต่งตั้งตัวแทนไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์อื่น สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และไปรษณีย์ ซึ่งเกณฑ์ใหม่ได้ขยายให้ครอบคลุมนิติบุคคลอื่นที่มีคุณสมบัติเหมาะสมด้วย
ทั้งนี้ ตัวแทนของธนาคารพาณิชย์สามารถให้บริการรับฝาก ถอน โอน ชำระเงิน สำหรับลูกค้ารายย่อย ซึ่งตามหลักเกณฑ์นี้ ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งจะเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกตัวแทนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม คือ จะต้องมีสถานที่ให้บริการเป็นหลักแหล่งที่ชัดเจน มีเครื่องมือและระบบให้บริการรองรับการปฏิบัติงานที่ปลอดภัย โดยประเด็นสำคัญธนาคารพาณิชย์ต้องดูแลรับผิดชอบการให้บริการของตัวแทนเสมือนหนึ่งเป็นผู้ให้บริการเอง
อย่างไรก็ตาม ตัวแทนของธนาคารพาณิชย์มีสถานะเป็นเพียงผู้ที่ธนาคารพาณิชย์แต่งตั้งให้บริการแทนธุรกรรมในบางประเภทเท่านั้น ไม่ใช่การจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ใหม่ที่มีใบอนุญาต (Banking License) จากธนาคารแห่งประเทศไทย
นายสมบูรณ์ ยังกล่าวอีกว่า Banking Agent ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในประเทศไทย ในอินโดนีเซีย มาเลเซีย บังคลาเทศ อินเดีย ก็มีการทำ Banking Agent แล้ว
ปัจจุบันในประเทศไทยมีนิติบุคคลหลายรายที่รับชำระค่าบริการต่าง ๆ ในฐานะของ Banking Agent หลายแห่ง แต่มีเพียง 4 แห่ง ที่ขออนุญาตในกรณีพิเศษ คือ สามารถรับฝากเงินเข้าไปในบัญชีธนาคารได้ คือ ตู้บุญเติม, ตู้เติมสบาย, แอปพลิเคชัน AirPlay และเคาน์เตอร์เซอร์วิส
นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยตระหนักถึงการที่ธนาคารพาณิชย์มีการปรับรูปแบบช่องทางการดำเนินธุรกิจและอาจมีการปิดสาขา หลักเกณฑ์ฉบับใหม่นี้จึงกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องมีมาตรการในการดูแลลูกค้าที่อาจได้รับผลกระทบ โดยต้องจัดทำแผนกลยุทธ์เกี่ยวกับสาขา ช่องทางให้บริการที่ผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมการของธนาคารพาณิชย์และแจ้งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบทุกปี
รวมถึงกำหนดให้มีช่องทางทดแทนการให้บริการลูกค้าที่เพียงพอ และต้องกำหนดแนวทางการดูแลพนักงานที่ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม