เผยความคืบหน้ารถไฟฟ้า 11 เส้นทาง เสร็จเมื่อไหร่บ้าง

เผยความคืบหน้ารถไฟฟ้า 11 เส้นทาง เสร็จเมื่อไหร่บ้าง

เผยความคืบหน้ารถไฟฟ้า 11 เส้นทาง เสร็จเมื่อไหร่บ้าง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) รับทราบความคืบหน้าการก่อสร้างรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 11 เส้นทาง เตรียมทยอยเปิดใช้บริการตั้งแต่ในปี 61 คือ สายสีเขียวใต้ แบริ่ง-สมุทรปราการ จากนั้นในปี 63 เปิดบริการ 4 เส้นทาง ได้แก่  สายสีเขียว ช่วงหมอชิต-คูคต สายสีแดงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน สายสีน้ำเงินช่วง บางซื่อ-ท่าพระ-หัวลำโพง จากนั้นในปี 64 เปิดบริการในสายสีเหลือง สีสายชมพู, ปี 65 สายสีแดงเส้นทางตลิ่งชัน-ศิริราช, ตลิ่งชัน-ศาลายา, บางซื่อ-หัวลำโพง-หัวหมาก 

ที่ประชุมรับทราบแผนก่อสร้าง 11 เส้นทางรถไฟฟ้า เพียงพอสำหรับรองรับการเดินทางของประชาชนในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลผ่านระบบรางรถไฟฟ้า เพราะมีระยะทางรถไฟฟ้าในเมืองหลวง 460 กิโลเมตร นับว่าเพียงพอแล้ว หลังจากนั้นจะหันไปพัฒนาระบบรางเบาในหัวเมืองใหญ่ ทั้งภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น โคราช พิษณุโลก โดยหลายเส้นทางมอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คัดเลือกภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุนและให้บริการแบบ PPP เพราะขณะนี้มีเอกชนรายใหญ่ต้องการเข้ามาลงทุนจำนวนมาก

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สำหรับแผนก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล เพิ่มเป็นสายที่ 11 ในเขตของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เพื่อเชื่อมต่อระบบรางทั้งหมด 7-8 เส้นทาง ให้เกิดการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าทั้งหมดทุกเส้นทางเข้าด้วยกัน เริ่มต้นจากแยกแคราย (เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีชมพู) ไปตามแนวถนนงามวงศ์วาน (เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง บริเวณสถานีบางเขน) ผ่านแยกเกษตร (เชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม บริเวณสถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) ไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ถนนนวมินทร์ และไปสิ้นสุดบริเวณถนนรามคำแหง (เชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม บริเวณแยกลำสาลี) ระยะทางรวมประมาณ 21.5 กิโลเมตร

ส่วนแผนสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 ตอน N2 เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก​ เพื่อใช้ประโยชน์เสาตอม่อที่ก่อสร้างค้างอยู่บนแนวกึ่งกลางถนนประเสริฐมนูกิจ (เกษตรฯ-นวมินทร์) โดยมอบ กทพ.ดำเนินการเพื่อลดผลกระทบการจราจรบริเวณแยกเกษตร โดยออกแบบโครงสร้างรองรับการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล

ยอมรับว่ามีบางช่วงสร้างผ่านบริเวณใกล้ ม.เกษตรศาสตร์ ในเส้นทางเกษตรฯ-นวมินทร์ เพื่อลดปริมาณจราจรให้วิ่งบนทางด่วนไม่ต้องลงมาเพิ่มปริมาณจราจรด้านล่าง ยืนยันว่ามีระบบดูแลสิ่งแวดล้อมตามข้อกำหนด และแผนก่อสร้างทางด่วนไม่น่ากังวลเรื่องสิ่งแวดล้อม เหมือนกับที่เคยกังวลการสร้างทางด่วนผ่านคลองประปา แม้จะมีการคัดค้านจาก ม.เกษตรศาสตร์ กระทรวงคมนาคม ก็ยินดีรับฟังความเห็นและเดินหน้าแผนไปด้วยกัน เพื่อประโยชน์ของคนกรุงเทพฯ โดยรวม ยอมรับว่าทางด่วนเส้นทางดังกล่าวมีความจำเป็นต้องสร้างเพื่อต้องการระบายรถจากมอเตอร์เวย์ตะวันออกเชื่อมกับมอเตอร์เวย์ตะวันตก

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)  กล่าวว่า เพื่อลดปริมาณจราจรเข้ามาตัวเมืองชั้นใน จึงเดินหน้าจัดเตรียมสถานที่จอดรถ (Park and Ride) ให้กับคนชานเมือง 51 จุด รองรับรถยนต์ 40,000 คัน การใช้บัตรใยแมงมุมของรถไฟฟ้าเป็นส่วนลดราคาค่าจอดรถ มีระบบรักษาความปลอดภัยให้กับเจ้าของรถ เพื่อนั่งรถไฟฟ้าเข้ามาทำงานในเมือง เตรียมออกหลายมาตรการดึงดูดให้คนจอดรถไว้นอกเมือง เช่น จำกัดความเร็วบางเส้นทาง การห้ามจอดรถบางเส้นทาง เพื่อให้จอดบนอาคารจอด เมื่อหาที่จอดไม่ได้จึงต้องจอดไว้นอกเมืองและนั่งรถไฟฟ้าเข้ามาในเมือง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook