'การบินไทย' ยังอ่วม ปี 60 ขาดทุนกว่า 2 พันล้านบาท
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รายงานผลประกอบการของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ในปี 2560 โดยระบุว่ามีรายได้รวมจำนวน 191,946 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,389 ล้านบาท (6.3%) โดยเพิ่มขึ้นทั้งจากรายได้ค่าโดยสารและค่าน้ำหนักส่วนเกิน รายได้จากค่าระวางขนส่งและไปรษณียภัณฑ์ และรายได้จากการบริการอื่น ๆ
ขณะที่มีค่าใช้จ่ายรวมจำนวน 189,090 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12,604 ล้านบาท (7.1%) เป็นผลจากค่าน้ำมันเครื่องบินเพิ่มขึ้น 4,879 ล้านบาท (10.8%) จากราคาน้ำมันเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 24.2% ประกอบกับปริมาณการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณการผลิต ถึงแม้ว่าจะมีการบริหารความเสี่ยงราคาน้ำมันได้ดีขึ้นกว่าปีก่อนก็ตาม ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานไม่รวมน้ำมันสูงขึ้น 8,313 ล้านบาท (6.6%) สาเหตุหลักเกิดจากปริมาณการผลิตและปริมาณการขนส่งที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับค่าซ่อมแซมและซ่อมบำรุงอากาศยานเพิ่มขึ้น ขณะที่มีต้นทุนทางการเงินสุทธิ ลดลง 588 ล้านบาท (11.5%) จากการบริหารเงินสดและการปรับโครงสร้างทางการเงินต่อเนื่องจากปีก่อน เป็นผลให้มีกำไรจากการดำเนินงาน จำนวน 2,856 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 1,215 ล้านบาท (29.8%)
โดยบริษัทฯ และบริษัทย่อย มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียวรวม 979 ล้านบาท และรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบินจำนวน 3,191 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 1,581 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ และบริษัทย่อย ขาดทุนสุทธิ 2,072 ล้านบาท โดยเป็นขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 2,107 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 0.97 บาท ในขณะที่ปีก่อนมีกำไร 15 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรต่อหุ้น 0.01 บาท
ทั้งนี้ การบินไทย คาดว่า สถานการณ์ของอุตสาหกรรมการบินในปีนี้ น่าจะเติบโตตามเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องจากปัจจัย 4 ประการ ได้แก่
1) ปริมาณการค้าโลกที่มีการฟื้นตัวต่อเนื่อง
2) การเพิ่มขึ้นของค่าจ้างและอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ
3) เศรษฐกิจในประเทศตลาดเกิดใหม่ยังคงเติบโตได้ดี
4) คามไม่แน่นอนทางการเมืองที่คาดว่าจะไม่ผันผวนมากนัก
สำหรับอุตสาหกรรมการบินของไทย หลังจากที่องค์การการบินระหว่างประเทศ (ICAO) ได้ปลดธงแดงลงเมื่อ 6 ตุลาคม 2560 น่าจะส่งผลดีและทำให้เกิดการขยายตัวจากภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาครัฐ ทำให้ปริมาณนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับการขยายตัวอย่างรวดเร็วของสายการบินต้นทุนต่ำ
นอกจากนี้ แผนการพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการบิน (Aeropolis) และศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้น
ซึ่งในปี 2561 นี้ การบินไทย จะดำเนินการตามแผนวิสาหกิจ ปี 2560 - 2564 เพื่อขับเคลื่อนองค์กรต่อเนื่องจากแผนปฏิรูประยะที่ 3 พร้อมกับการเพิ่มศักยภาพฝูงบินด้วยการรับมอบเครื่องบินใหม่จากแอร์บัสรุ่น A350-900XWB จำนวน 5 ลำ และมีแผนการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่มีความจำเป็นในการใช้งาน โดยเริ่มต้นจากการขายหุ้นในบริษัท โรงแรมรอยัลออคิด (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วน 24% ของทุนจดทะเบียน ด้วยราคาหุ้นละ 41 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 922.5 ล้านบาท