คลังชี้โรงงานยาสูบมีกระแสเงินสดกว่า 9,000 ล้าน ไม่กระทบเงินเดือนพนักงาน

คลังชี้โรงงานยาสูบมีกระแสเงินสดกว่า 9,000 ล้าน ไม่กระทบเงินเดือนพนักงาน

คลังชี้โรงงานยาสูบมีกระแสเงินสดกว่า 9,000 ล้าน ไม่กระทบเงินเดือนพนักงาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากนางสาวดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ ผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ ออกมาให้ข่าวกับสื่อมวลชนเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ ถึงประเด็นปัญหายอดขายบุหรี่ของโรงงานยาสูบลดลง หลังจากมีการประกาศใช้โครงสร้างอัตราภาษีสรรพสามิต ตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 ที่เริ่มมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. 2560 ที่ผ่านมา

[“โรงงานยาสูบ” ถังแตก! ไม่มีกำไร เตรียมเสนอคลังขอกู้จ่ายเงินเดือนพนักงาน]

ส่งผลให้ราคาบุหรี่ โดยเฉพาะบุหรี่ที่ผลิตจากโรงงานยาสูบต้องปรับราคาขายปลีกสูงขึ้นตั้งแต่ 3-20 บาทต่อซอง ขณะที่บุหรี่ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ปรับราคาขายปลีกเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และบางยี่ห้อปรับราคาขายลดลง ทำให้ส่วนแบ่งตลาดบุหรี่ของโรงงานยาสูบในเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา เหลือเพียง 55-56% จากเดิมมีส่วนแบ่งตลาดอยู่สูงถึง 80% 

อีกทั้ง ในปีนี้กำลังการผลิตบุหรี่ของโรงงานยาสูบจะอยู่ที่ 18,000 ล้านมวนต่อปี จากกำลังการผลิตสูงสุดอยู่ที่ 65,000 ล้านมวนต่อปี หลังจากเปิดโรงงานยาสูบแห่งใหม่เรียบร้อยแล้ว แสดงให้เห็นว่าที่ผ่านมา กระทรวงการคลังและโรงงานยาสูบคาดการณ์ผิดพลาดไป โดยเฉพาะโรงงานยาสูบแห่งใหม่ ต้องจ่ายค่าเครื่องจักรเพียงอย่างเดียวด้วยมูลค่าถึง 16,000 ล้านบาท โดยโรงงานยาสูบนำกำไรแต่ละปี มาทยอยจ่ายเป็นค่าเครื่องจักร ซึ่งยังเหลือค้างจ่ายอีก 7,000 ล้านบาท โดยในปี 2561 มีสัญญาผูกพันต้องจ่ายอีก 2,900 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เป็นต้นทุนหลัก 4 เรื่อง ได้แก่

1) ค่าใช้จ่ายในการย้ายโรงงานจากถนนพระราม 4 ไปยังโรงงานใหม่โรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา

2) ค่าใช้จ่ายในการดูแลโรงพยาบาลยาสูบ

3) การสนับสนุนนโยบายรัฐด้วยการรับซื้อใบยาสูบสูงกว่าราคาตลาด 22 บาทต่อกิโลกรัม

4) ค่าก่อสร้างสวนเบญจกิติ

รวมแล้วเป็นเงินอีก 1,500 ล้านบาท 

ด้วยเหตุนี้ จึงส่งผลให้โรงงานยาสูบต้องเตรียมแผนกู้เงินเพื่อนำมาเสริมสภาพคล่อง และนำเงินส่วนหนึ่งไปใช้ในการซื้อเครื่องจักรโรงงานยาสูบแห่งใหม่ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ถึงกรอบวงเงินที่ต้องกู้ คาดว่าอยู่ในหลักหลายพันล้านบาท และประเมินว่าจะต้องเริ่มกู้ในช่วงเดือน พ.ค.นี้

"โรงงานยาสูบต้องมีเงินหมุนต่อเดือนประมาณ 4,000 ล้านบาท ล่าสุดมีเงินสดที่เหลือในมือไม่ถึง 5,000 ล้านบาท ประกอบกับยอดขายยาสูบที่ลดลง ทำให้เกิดปัญหาสภาพคล่อง ดังนั้นจำเป็นต้องกู้มาเพื่อใช้จ่าย ทั้งในเรื่องการลงทุน และการนำมาจ่ายเงินเดือนให้พนักงาน โดยครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่โรงงานยาสูบต้องกู้เงินมาเสริมสภาพคล่อง" นางสาวดาวน้อยกล่าว

พร้อมกับให้ข้อมูลว่า ปีนี้โรงงานยาสูบอาจจะขาดทุนไม่น้อยกว่า 1,500 ล้านบาท เพราะปัจจุบันขายบุหรี่แทบไม่มีกำไร แต่มีค่าใช้จ่ายประจำ เช่น เงินช่วยเกษตรกรปีละ 500 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลอีก 300-400 ล้านบาท ที่เหลือเป็นการนำไปใช้ในโครงการกิจการเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่า ในปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมา (สิ้นสุด ก.ย. 2560) โรงงานยาสูบยังสามารถทำกำไรได้ 9,344 ล้านบาท เพราะยังไม่ได้รับผลกระทบจากภาษี และสามารถจ่ายโบนัสให้พนักงานเกือบ 7 เดือน แต่ในปี 2561 กำลังพิจารณาว่าจะทำอย่างไรกับโบนัสพนักงาน หากยังอยู่ในภาวะขาดทุนเช่นนี้

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติการยาสูบแห่งประเทศไทย ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระ 3 แล้ว จึงมีความหวังว่า ด้วยกฎหมายใหม่ ที่จะทำให้โรงงานยาสูบมีสถานะเป็นนิติบุคคล และมีชื่อเรียกใหม่ว่า 'การยาสูบแห่งประเทศไทย' จะทำให้สามารถทำการตลาดและวางแผนธุรกิจในโครงสร้างใหม่ได้ ทั้งนี้ คาดว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้ประมาณต้นเดือน พ.ค. 2561 

ทางด้าน นายชาญวิทย์ นาคบุรี โฆษกสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ให้ความเห็นว่า หากดูที่งบดุลปีงบประมาณ 2560 ของโรงงานยาสูบในปัจจุบัน ซึ่งมีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดกับเงินลงทุนชั่วคราว (เงินฝาก) รวมกันอยู่ที่กว่า 9,136 ล้านบาทแล้ว ก็นับว่ายังมีจำนวนเงินที่สูงอยู่ ดังนั้น จึงคาดว่ากระแสเงินสดระดับนี้ น่าจะประคองสถานการณ์ของโรงงานยาสูบในช่วงเปลี่ยนผ่านของตลาดบุหรี่ไปสักระยะหนึ่ง หรือน่าจะยาวกว่าเดือน พ.ค. นี้ 

อีกด้านหนึ่ง หากร่าง พ.ร.บ.การยาสูบแห่งประเทศไทย มีผลบังคับใช้ทันเดือน พ.ค. ก็จะทำให้โรงงานยาสูบมีสถานะเป็นนิติบุคคลที่สามารถทำธุรกิจได้มากกว่าเดิม

ขณะที่ นายยุทธนา หยิมการุณ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะกรรมการโรงงานยาสูบ เปิดเผยว่า ในปี 2561 โรงงานยาสูบจะไม่มีปัญหาขาดสภาพคล่อง เพราะมีการกันเงินค่าใช้จ่ายไว้หมดแล้ว แต่ปี 2562 ทางผู้อำนวยการโรงงานยาสูบอาจจะกลัวว่าจะมีปัญหาสภาพคล่อง เพราะมีส่วนแบ่งตลาดลดลงและกำไรของบุหรี่ต่อซองเหลือน้อยมาก แต่ยืนยันว่าเรื่องงบประมาณในการจ่ายเงินเดือนพนักงานยังมีเพียงพอ

ทั้งนี้ ปัจจุบันโรงงานยาสูบมีพนักงานรวมทั้งสิ้นกว่า 2,800 คน โดยในจำนวนนี้มีพนักงานส่วนกลางที่ยังคงปฎิบัติงานที่สำนักงานใหญ่ที่คลองเตยได้ต่อไปอีกราว 1,000 คน ที่เหลืออีกราว 1,800 คน ต้องย้ายไปทำงานที่โรงงานแห่งใหม่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเบื้องต้นจากการสำรวจความต้องการของพนักงานทั้งหมด พบว่ามีคนสนใจจะเข้าโครงการสมัครใจเกษียณอายุก่อนกำหนด (เออร์ลี่รีไทร์) ประมาณ 500 คน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook