ปลาจากฟุกุชิมะส่งถึงไทยชาติแรก ก่อนครบ 7 ปีเหตุการณ์นิวเคลียร์รั่วไหล

ปลาจากฟุกุชิมะส่งถึงไทยชาติแรก ก่อนครบ 7 ปีเหตุการณ์นิวเคลียร์รั่วไหล

ปลาจากฟุกุชิมะส่งถึงไทยชาติแรก ก่อนครบ 7 ปีเหตุการณ์นิวเคลียร์รั่วไหล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เว็บไซต์เจแปนไทม์ส รายงานว่าปลาจากฟุกุชิมะถูกส่งจากท่าเรือโซมะมาถึงไทยเป็นประเทศแรก เมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยเป็นปลาซีกเดียว รวม 110 กิโลกรัม ซึ่งจะถูกนำไปปรุงอาหารในร้านอาหารญี่ปุ่น 12 แห่งของกรุงเทพฯ และคาดว่าจะมีการส่งออกปลาจากฟุกุชิมะมายังไทยอย่างต่อเนื่องในอนาคต 

นายคันจิ ทาจิยะ ประธานสมาคมความร่วมมืออุตสาหกรรมประมงแห่งเมืองโซมะ ในจังหวัดฟุกุชิมะ ระบุว่า สมาคมมีความยินดีอย่างยิ่งที่สามารถส่งปลาไปจำหน่ายในต่างประเทศได้เหมือนเดิม หลังจากที่ชาวประมงในจังหวัดฟุกุชิมะถูกรัฐบาลสั่งห้ามจับสัตว์น้ำในทะเลรอบโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2554 ทำให้มีปัญหานิวเคลียร์รั่วไหลปนเปื้อนแหล่งน้ำใต้ดินและน้ำทะเลโดยรอบ 

นับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา สมาคมประมงและหน่วยงานรัฐบาลของญี่ปุ่นได้ร่วมกันจับสัตว์น้ำในทะเลแถบ จ.ฟุกุชิมะ เพื่อสุ่มตรวจสารปนเปื้อนจากนิวเคลียร์รั่วไหล และพบว่าสัตว์น้ำที่จับในบริเวณดังกล่าวไม่มีซีเซียมหรือธาตุโลหะปนเปื้อนเกินกว่าค่ามาตรฐานมาตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งถือว่าปลอดภัยต่อการบริโภค รัฐบาลญี่ปุ่นจึงผ่อนผันคำสั่งห้ามจับสัตว์น้ำรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ จากเดิมที่สั่งห้ามในระยะ 20 ก.ม. เหลือเพียง 10 ก.ม. จนกระทั่งตรวจสอบได้ว่าสัตว์น้ำปลอดภัยและได้มาตรฐานส่งออกอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม หลายประเทศยังไม่ยกเลิกคำสั่งระงับการนำเข้าผลิตภัณฑ์จาก จ.ฟุกุชิมะ แต่มีการผ่อนผันเป็นบางกรณี ขณะที่เกาหลีใต้ออกคำสั่งห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์จากฟุกุชิมะทุกประเภท รัฐบาลญี่ปุ่นจึงยื่นเรื่องฟ้องต่อคณะอนุญาโตตุลาการ องค์การการค้าโลก (WTO) โดยระบุว่า มาตรการดังกล่าวของเกาหลีใต้เป็นการเลือกปฏิบัติและกีดกันการค้า เนื่องจากผลิตภัณฑ์หลายประเภทได้รับการยืนยันว่าปลอดภัย และ WTO มีคำตัดสินเข้าข้างญี่ปุ่นเมื่อปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา แต่เกาหลีใต้ระบุว่าจะยื่นเรื่องอุทธรณ์ต่อไป

ขณะที่ประเทศและเขตปกครองอื่น ๆ นอกเหนือจากเกาหลีใต้ ที่เคยมีและยังมีคำสั่งห้ามหรือคำสั่งเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ส่งออกจาก จ.ฟุกุชิมะของญี่ปุ่น ได้แก่ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย แคนาดา เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน

นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็ยังมีคำสั่งให้ตรวจสอบข้าวและเมล็ดพันธุ์ต่าง ๆ ที่ปลูกใน จ.ฟุกุชิมะอย่างต่อเนื่องหลังเกิดเหตุนิวเคลียร์รั่วไหล จนกระทั่งช่วงปี 2558-2560 พบว่าข้าวที่ปลูกในฟุกุชิมะมีปริมาณสารกัมมันตรังสีต่ำกว่า 100 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่สามารถบริโภคได้ และหากผลตรวจสอบในปี 2561-2562 พบว่าข้าวที่ปลูกในฟุกุชิมะยังได้มาตรฐานเดิม ก็จะยกเลิกคำสั่งให้ตรวจสอบข้าว

ส่วนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทย กำหนดให้ตรวจปริมาณการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในอาหาร 3 ชนิด ได้แก่ ไอโอดีน 131 ซีเซียม 137 และซีเซียม 134 โดยเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด คือ อาหารต่าง ๆ จะต้องมีไอโอดีน 131 ไม่เกิน 100 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม ซีเซียม 134 และซีเซียม 137 รวมกันต้องไม่เกิน 500 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook