สถาบันอาหารเผยภาคผลิตอุตฯอาหารหดตัว
นายเพ็ชร ชินบุตร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยถึงสถานการณ์อาหารในไตรมาสแรกปี 2555 พบว่า ภาคการผลิตอุตสาหกรรมอาหารของไทยหดตัวลงร้อยละ 1.6 เป็นผลจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในตลาดส่งออกกลาง อาทิ สหรัฐอเมริกา และยุโรป ขณะที่การส่งออกอาหารไทยมีมูลค่า 234,288 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.3 จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นของน้ำตาลทราย ไก่ และสัตว์ปีก แป้งมันสำปะหลัง ส่วนแนวโน้มไตรมาสที่ 2 คาดว่า จะชะลอตัวลงต่อเนื่อง ทั้งภาคการผลิตที่ฟื้นตัวขึ้นอย่างช้า และการส่งออกที่ยาก จะมีมูลค่า 249,692 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 2.3 แต่ทั้งนี้ภาพรวมการผลิตในอุตสาหกรรมอาหารปีนี้จะขยายตัวเพียงร้อยละ 1.3 โดยราคาอาหารจะยังอยู่ในระดับสูงตามต้นทุนการผลิต ขณะที่การส่งออกมีมูลค่า 1 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.1 ซึ่งการส่งออกจะหดตัวในไตรมาส 2 ถึงไตรมาส 3 ก่อนฟื้นตัวในไตรมาส 4 นอกจากนี้ นายเพ็ชร เปิดเผย ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาวะอุตสาหกรรมอาหาร ในเดือน เม.ย. ปี 2555 พบว่า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นว่า ภาวะอุตสาหกรรมโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น โดยมีค่าความเชื่อมั่นอยู่ที่ระดับ 55 ขณะที่ ความเชื่อมั่นใน 3 เดือนข้างหน้า มีค่าเท่ากับ 58.4 ซึ่งยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยต้นทุนวัตถุดิบเป็นองค์ประกอบหลักที่ภาคธุรกิจมองว่าเป็นอุปสรรคต่อธุรกิจทั้งปัจจุบันและในอนาคต โดยหากพิจารณารายกลุ่มอุตสาหกรรม พบว่ากลุ่มข้าวและเครื่องปรุงรส มีความเชื่อมั่นทางธุรกิจลดลง ทำให้การส่งออกข้าวไทยตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ขณะที่ เครื่องปรุงรส ก็ประสบปัญหาวัตถุดิบที่มีราคาสูงขึ้น ส่วนการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศอีก ร้อยละ 40 ในเดือน เม.ย. พบว่า มีผู้ประกอบการส่วนน้อย เพียงร้อยละ 5.1 ที่มีการปรับลดการจ้างงาน ขณะที่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 86.1 ยังคงจ้างงานในปริมาณเท่าเดิม นอกจากนี้ในส่วนของต้นทุนการผลิตพบว่า ในเดือน เม.ย. ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีภาระต้นทุนการผลิตสูงขึ้น แต่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ร้อยละ 75.9 ยังคงตรึงราคาสินค้าไว้ในระดับเดิม