บอร์ด กสทช. เตรียมยื่นอุทธรณ์คดี 'ติ๋ม ทีวีพูล'
พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการ กสทช. กรณีศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาว่า การดำเนินการของ กสทช.ทำผิดสัญญา บริษัทไทยทีวีฯ จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญา
["ติ๋ม ทีวีพูล" โล่งใจ ศาลปกครองชี้ กสทช. ผิดสัญญา ได้คืน 1,500 ล้าน]
โดยระบุว่า บอร์ด กสทช.เตรียมยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ใน 3 ประเด็น เนื่องจากไม่เห็นด้วยในข้อวินิจฉัยของศาลปกครองกลางบางประการ ได้แก่ ข้อวินิจฉัยที่ระบุว่า การออกใบอนุญาตในคดีนี้เป็นการอนุญาตให้ผู้ฟ้องคดี 'เข้าร่วมการงาน' ในการจัดทำบริการสาธารณะแทนรัฐในการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่อันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน ซึ่งการร่วมการงาน หมายถึง ระบบสัญญาสัมปทาน
ประเด็นที่ระบุว่า กสทช.ไม่ดำเนินการตามแผนแม่บทกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือการเปลี่ยนผ่านระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ ในระบบดิจิทัล และการขยายโครงข่ายเป็นไปอย่างล่าช้า ไม่เป็นไปตามแผนงานนั้น ยืนยันว่าที่ผ่านมา กสทช.มีการขยายโครงข่ายเป็นไปตามที่ประกาศทุกประการว่าในแต่ละช่วงเวลาจะดำเนินการให้ความครอบคลุมอย่างไร ซึ่งมีการประกาศหลักการไว้ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการประมูลทีวีดิจิทัล
กรณีที่กรมประชาสัมพันธ์ไม่ได้ดำเนินการติดตั้งและให้บริการโครงข่ายนั้น ได้มีการลงโทษตามอำนาจหน้าที่แล้ว ขณะนี้เรื่องอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครองกลาง อีกทั้งกรณีนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการ เนื่องจากไม่มีผู้ประกอบกิจการรายใดใช้บริการโครงข่ายของกรมประชาสัมพันธ์
ส่วนเรื่องการแจกคูปองล่าช้า 6 เดือนนั้น เป็นเรื่องปกติที่ไม่สามารถดำเนินการแจกคูปองให้ประชาชนนำเครื่องรับสัญญาณไปก่อนที่จะมีการขยายโครงข่าย แต่เมื่อมีการขยายโครงข่ายแล้ว ได้มีการแจกคูปองให้ประชาชนตามปกติ ในระยะเวลา 6 เดือน
อีกประเด็นสำคัญที่ศาลไม่ได้วินิจฉัย คือ ตาม พ.ร.บ.องค์กรกำกับดูแล มาตรา 42 ได้กำหนดว่า เงินที่ได้รับจากการประมูลเป็นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ซึ่งต้องชำระเมื่อได้รับใบอนุญาต เป็นสิ่งที่บอกว่า เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้ว ต้องชำระค่าอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ แต่ที่มีการแบ่งเป็นงวด ๆ นั้น เป็นเพียงการอำนวยความสะดวกเท่านั้น
"กสทช.มีความจำเป็นที่จะต้องยื่นอุทธรณ์ เนื่องจากมีบางประการที่ขัดกับหลักการใหญ่ของการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัญญาสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต เพื่อให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม และมีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้ง กสทช.เป็นองค์กรกำกับดูแลเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติ หรือผู้ที่มีหน้าที่ให้บริการ" พ.อ.นที กล่าว
สำหรับการช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลนั้น พ.อ.นที กล่าวว่า บริการโทรทัศน์เป็นบริการสาธารณะ ที่เอกชนมาให้บริการกับประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เมื่ออุตสาหกรรมเกิดปัญหา หน่วยงานรัฐควรเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการทุกรายอย่างเท่าเทียมกัน โดยมองประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ และช่วยเหลืออุตสาหกรรมโดยภาพรวม