‘ฟรีค่าธรรมเนียม’ คือทางด่วนสู่สังคมไร้เงินสด?
เรียกได้ว่าเป็นข่าวใหญ่เลยทีเดียว เมื่อธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และล่าสุดธนาคารกรุงไทย (KTB) ประกาศ ฟรีค่าธรรมเนียม การทำธุรกรรมผ่าน Mobile Banking และ Internet Banking แน่นอนว่าประกาศดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบทั้งกับผู้ใช้และระบบธุรกรรมทางการเงิน โดยเฉพาะประเด็นอย่างสังคมไร้เงินสด หรือ Cashless Society ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติกำลังผลักดันอย่างแข็งขัน ซึ่งการฟรีค่าธรรมเนียมช่วยผลักดันเรื่องนี้อย่างไร และทำไมเราถึงต้องเป็นสังคมไร้เงินสด Sanook! Money ขอนำเสนอเส้นทางของเรื่องนี้ให้ทุกท่านได้เห็นภาพชัดเจนกัน
จุดเริ่มต้นของการ ‘ฟรีค่าธรรมเนียม‘
อย่างที่ทราบกันดีว่ารายได้ส่วนหนึ่งของธนาคาร มาจากการเก็บค่าธรรมเนียมธุรกรรมของเราที่เกิดขึ้นจำนวนมหาศาลในแต่ละวัน แต่เมื่อมีการแข่งขันด้านบริการเกิดขึ้น ค่าธรรมเนียมก็กลายเป็นสิ่งกวนใจลูกค้าธนาคารรายย่อยอย่างเลี่ยงไม่ได้ บางธนาคารจึงได้นำเรื่องค่าธรรมเนียมมาชูเป็นจุดเด่น เช่น ธนาคารทหารไทย (TMB) ที่มุ่งเรื่องการเป็นธนาคารที่แตกต่าง และให้ความสำคัญกับกลุ่ม SMEs
การฟรีค่าธรรมเนียมไม่ได้เป็นการอำนวยความสะดวกเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งเสริมให้ใช้เงินในระบบธนาคารด้วย เพราะธนาคารจะงดเว้นค่าธรรมเนียมธุรกรรมเมื่อใช้ทำธุรกรรมผ่านระบบของธนาคาร โดยเฉพาะบน Platform ดิจิทัลทั้ง Internet Banking และ Mobile Banking หากมองเรื่องรายได้ ธนาคารอาจเสียประโยชน์ แต่ก็มีสิทธิได้ฐานลูกค้ามากขึ้นจากการมอบประโยชน์ลักษณะนี้
ธนาคารแห่งประเทศไทย คือผู้อยู่เบื้องหลังการ ‘ฟรีค่าธรรมเนียม’ เพื่อ ‘Cashless Society’
อันที่จริงเรามีระบบรองรับการฟรีธุรกรรมมาสักพักใหญ่แล้วในรูปของ ‘พร้อมเพย์’ ซึ่งแม้จะจำกัดการโอนที่มูลค่าไม่เกิน 5,000 บาทต่อครั้ง แต่ก็เพียงพอสำหรับชีวิตประจำวัน พร้อมรูปแบบที่ตอบรับการทำธุรกรรมกับภาครัฐทำให้ปริมาณผู้ใช้งานเพิ่มสูงขึ้น โดยการเกิดขึ้นของพร้อมเพย์เป็นการวางรากฐานที่ ธปท.วางแผนไว้ เพื่อนำไปสู่การใช้งาน QR Code และผลักดันประเทศไทยสู่สังคมไร้เงินสดอย่างแท้จริง
ธนาคารแห่งประเทศไทย เคยมีแนวคิดทีเล่นทีจริงในการทำให้คนไทยสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงินสดว่า “ถ้าทุกธนาคารไม่เก็บค่าธรรมเนียมล่ะ?” จะทำให้แพลตฟอร์มออนไลน์เติบโตได้จริง ๆ หรือไม่? และวันนี้มี 3 ธนาคารที่ประกาศฟรีค่าธรรมเนียมแล้ว และคาดว่าจะมีอีกหลายธนาคารตามมา
แล้วทำไม แบงก์ชาติต้องผลักดัน Cashless Society?
ธปท.เคยแจกแจงว่า “เพราะการบริหารจัดการเงินสดมีต้นทุน” ไม่ว่าจะเป็นธนบัตรหรือเหรียญ เงินสดนั้นย่อมมีต้นทุนทั้งการผลิต การขนส่ง การกำจัด ซึ่งต้องเสียค่าดำเนินการส่วนนี้ไปมหาศาล ซึ่งเมื่อเทียบกับการใช้เงินในระบบดิจิทัลมีต้นทุนน้อยกว่าชัดเจน
ผลกระทบเมื่อธนาคารปลดล็อกค่าธรรมเนียม
- คนจะใช้พร้อมเพย์น้อยลง เพราะเดิมที คนใช้งานพร้อมเพย์เพื่อรับเงินจากภาครัฐมากกว่า คนจะหันไปใช้งานที่ทับซ้อนกับพร้อมเพย์บน Platform ของธนาคารต่าง ๆ แทน
- Wallet, Non-Bank ไปจนถึงบริการจุดชำระเงินจะเจอผลกระทบ เพราะธุรกรรมจะถูกใช้บน Platform ของธนาคารซึ่งเป็นจุดที่ลูกค้าเก็บเงินไว้อยู่แล้ว การโยกเงินไป Wallet เพื่อใช้บริการของ Non-Bank หากไม่ได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่า จะกลายเป็นการเพิ่มขั้นตอนที่มากกว่า
- Mobile Banking และ Online Banking จะเบ่งบาน จากการสนับสนุนให้ใช้ช่องทางดังกล่าวด้วยเงื่อนไขนี้ ส่วนตู้ ATM หรือสาขาธนาคารจากเดิมที่เป็นจุดทำธุรกรรมจะเปลี่ยนบทบาทเป็นจุดสนับสนุนการทำธุรกรรมแทน ซึ่งหากอนาคตระบบธนาคารดิจิทัลตอบโจทย์คนไทยได้ทั้งหมด การลดจำนวนตู้เอทีเอ็มและสาขาจะเกิดขึ้นแน่นอน
- ผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อยได้รับประโยชน์จากกระแสเงินสดที่คล่องมากขึ้นจากการฟรีค่าธรรมเนียมการโอนเงินและชำระบริการ รวมไปถึงการโอนข้ามเขตและโอนเงินข้ามธนาคารแบบทันที เมื่อกระแสเงินสดดีขึ้น การบริหารงานก็จะเปลี่ยนไปด้วย
เมื่อทุกธุรกรรมเป็นดิจิทัล แต่ QR Code ยังไม่เป็นที่นิยม ต้องทำอย่างไร
แม้การฟรีค่าธรรมเนียมธุรกรรมออนไลน์จะช่วยให้ผู้ใช้ลดการกดเงินสดชำระค่าบริการต่าง ๆ แต่สำหรับการจ่ายเงินเพื่อชำระค่าสินค้าในชีวิตประจำวันยังต้องมีการปรับตัวอีกมาก เพราะในประเทศไทย QR Code ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก การชักจูงให้คนหันมาใช้ Platform อื่น นอกจากเงินสดอาจต้องมอบประโยชน์หรือแก้ปัญหาบางอย่างที่ผู้ใช้พบเจอมากกว่ามีโปรโมชั่นเป็นช่วง ๆ อย่างที่เป็นอยู่
เมื่อธนาคารขนาดใหญ่ของประเทศเริ่มขยับเรื่องการยกเลิกค่าธรรมเนียมบนธุรกรรมดิจิทัล ย่อมส่งสัญญาณว่าภาคการเงินกำลังก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลเต็มกำลัง และต่างต้องการดึงฐานลูกค้าสู่ระบบออนไลน์ของตน นี่คือการแข่งขันด้านการเงินเริ่มเปลี่ยนสมรภูมิสู่โลกออนไลน์ ธนาคารจะใช้กลยุทธ์ใดเพื่อครองความเป็นหนึ่ง และหากการงดเก็บค่าธรรมเนียม ทำให้คนหันมาใช้ Mobile Banking มากขึ้น การใช้ QR Code ในไทยจะแพร่หลายหรือไม่ หรือจะเกิดวิธีการอื่นที่นำประเทศไทยไปสู่สังคมไร้เงินสด คงต้องติดตามกันต่อไป