7 นิสัยควรใช้ Internet Banking เพื่อความปลอดภัยของทรัพย์สินเรา
Internet Banking ยุคนี้คงจะเป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าไม่รู้จัก หรือไม่เคยใช้งาน เพราะสิ่งนี้ได้เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในชีวิตประจำของเรากันไปแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการซื้อ-ขายของออนไลน์ที่มักมีความเกี่ยวข้องกับ Internet Banking อยู่เสมอ เช่น การโอนเงินค่าสินค้า เช็คเงินค่าสินค้า เป็นต้น ซึ่งการซื้อขายออนไลน์ยุคนี้ไม่ว่าใคร ๆ ก็ทำได้ ขอแค่เพียงมีสินค้าที่จะขาย อินเตอร์เน็ต สมาร์ทโฟน หรือ คอมพิวเตอร์ ก็สามารถเป็นพ่อค้าแม่ค้าได้แล้ว
และด้วยว่า Internet Banking นั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับเงิน ๆ ทอง ๆ ดังนั้นเราจะใช้งานอย่างไม่ระมัดระวังก็คงจะไม่ได้ใช่ไหมล่ะครับ Sanook! Money จึงขอแนะนำ 7 สิ่งที่ผู้ใช้งาน Internet Banking ควรหัดทำให้เป็นนิสัย เพื่อความปลอดภัยของทรัพย์สินเรา ให้กับพวกเราที่ต้องใช้งานในส่วนนี้ให้ทราบกัน เพื่อที่จะได้เป็นเกราะป้องกันทรัพย์สินที่หามาอย่างเหนื่อยยากของเราไม่ให้หายไปไหน
7 สิ่งที่ผู้ใช้งาน Internet Banking ควรหัดทำให้เป็นนิสัย เพื่อความปลอดภัยของทรัพย์สินเรา
1. ควรเลือกใช้งานบนอุปกรณ์ส่วนตัวของเราเท่านั้น
- คงไม่ดีอย่างแน่นอนใช่ไหมล่ะครับ ถ้าเราจะเอาเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ของเราไปใช้กับอุปกรณ์สาธารณะทั่วไป ที่เราไม่รู้ว่ามีความปลอดภัยระดับไหน หรืออาจจะไม่มีเลยก็ได้ เพราะหากว่าเกิดมีปัญหาอะไรขึ้นมาเราอาจจะต้องมาเสียใจทีหลังก็ได้ครับ ดังนั้นการใช้งาน Internet Banking บนอุปกรณ์ส่วนตัวของเราเท่านั้น ดูเป็นทางเลือกที่จะปลอดภัยที่สุดครับ เพราะการใช้งานบนอุปกรณ์ที่ไม่ใช่ของเรา เราอาจจะถูกขโมยข้อมูลส่วนตัวไปก็ได้
2. รักษาความลับให้เป็น
- เมื่อเราได้ทำการสมัครใช้บริการธุรกรรมทางการเงินผ่านทางอินเตอร์เน็ตแล้ว เราต้องไม่ลืมที่จะเก็บรักษาสิ่งเหล่านี้ นั่นคือ รหัสชื่อผู้ใช้บริการ (User ID) , รหัสผ่าน (Password) , รหัสรักษาความปลอดภัย (Security Password) เป็นความลับให้ดี เพื่อป้องกันการโดนผู้อื่นเข้ามาทำความเดือดร้อนแก่บัญชีของเรา
3. เปลี่ยนรหัสผ่านบ้าง
- การเปลี่ยนรหัสผ่านอยู่เสมอจะช่วยให้บัญชีของเรานั้นปลอดภัยมากขึ้น เพราะว่ามิจฉาชีพจะคาดเดาได้ยากนั่นเอง และข้อสำคัญไม่ควรใช้รหัสผ่านที่ง่ายจนเกินไปหรือสามารถคาดเดาได้ง่าย เช่น 1234567 , เบอร์โทรศัพท์ , วันเกิด เป็นต้น เพราะสิ่งเหล่านี้ถือเป็นสิ่งใกล้ตัวที่หากรู้ข้อมูลส่วนตัวของเราก็จะสามารถเดาออกได้ไม่ยาก ซึ่งก็คงไม่ดีแน่ ๆ
4. ออกจากระบบทุกครั้งหลังใช้งาน
- เราควรหัดที่จะออกจากระบบทุกครั้งเมื่อมีการใช้งาน Internet Banking ใช้อีเมล์ หรือทำรายการอื่น ๆ เสร็จสิ้น เพื่อเป็นการรักษาความปลอดภัยข้อมูลส่วนตัวของเรานั่นเอง
5. อย่าลืมตรวจสอบความถูกต้องของการทำรายการ
- สิ่งนี้ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ เพราะว่าหากเราไม่มีการตรวจสอบให้ดีแล้วเกิดมีการทำรายการที่ผิดปกติขึ้นมา เราก็ต้องรับผิดชอบในส่วนนั้นด้วย ดังนั้นเราจึงควรที่จะหมั่นตรวจสอบการทำรายการอยู่เสมอว่ามีรายการไหนผิดปกติหรือไม่ หากพบว่ามีรายการที่ผิดปกติก็ให้รีบแจ้งทางสถาบันการเงินทันที เพื่อให้ช่วยหาทางแก้ไขนั่นเอง
6. หลีกเลี่ยงการใช้งานอินเตอร์เน็ตสาธารณะ
- ถึงอินเตอร์เน็ตสาธารณะจะมีข้อดีมากมายขนาดไหน เราก็ไม่ควรที่จะใช้งานอินเตอร์เน็ตสาธารณะในการทำธุรกรรมทางการเงินของเรา เพราะเราอาจจะถูกดักขโมยข้อมูลส่วนตัวของเรา จากการใช้อินเตอร์เน็ตสาธารณะก็ได้ ดังนั้นหากว่าจะทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ ก็ควรใช้อินเตอร์เน็ตจากซิมการ์ดที่เราเป็นคนดูแลอยู่ จะเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าครับ
7. มีปัญหาหรือมีข้อสงสัยให้รีบแจ้งสถาบันการเงินทันที
- หากพบว่ามีการติดต่อในเรื่องเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงินของเรา เช่น โทรศัพท์มาแจ้ง ส่งอีเมล์แจ้งเรื่อง เป็นต้น รวมถึงไม่ว่าจะเป็นการติดต่อมาจากช่องทางไหน หากเรามีข้อสงสัย ขอแนะนำว่าให้รีบติดต่อสถาบันการเงินด้วยตัวเองเลยครับ อย่าเชื่อจากสายโทรศัพท์ที่ติดต่อมาแจ้งเรื่องทั้งหมด เพราะว่าเราอาจจะตกเป็นเหยื่อของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้ หากว่าเรานั้นไม่มีการเช็ครายละเอียดให้ดีก่อนการตัดสินใจทำตามที่มีการแจ้งเรื่องมา
หากเราใช้งาน Internet Banking อย่างระมัดระวังอยู่เสมอ ก็จะช่วยให้ทรัพย์สินของเรานั้นปลอดภัยจากมิจฉาชีพได้ เพราะถึงแม้ว่าทางสถาบันการเงินจะมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีขนาดไหนก็ตาม แต่ถ้าเราใช้งานด้วยความประมาท โอกาสที่จะพลาดจนเกิดปัญหาตามมาก็ไม่ใช่เรื่องยาก ดังนั้นใช้งานอย่างมีสติเสมอ เพื่อประโยชน์ของตัวเราเองครับ