แอพพลิเคชั่น แหล่งกำเนิดใหม่ของ Social Network
แม้ว่าเราจะมีเครือข่ายสังคมหลักๆ ที่ปัจจุบันยังไม่มีใครโค่นลงได้อย่าง Facebook และ Twitter แต่ท่ามกลางกระแสหลักเหล่านี้ ก็ยังมีเครือข่ายสังคมเล็กๆ
หาช่องว่างแทรกเข้ามาได้เสมอ โดยเน้นที่จุดเด่นเฉพาะตัว ใช้ควบคู่กับเครือข่ายหลักทั้ง Facebook และ Twitter ได้ ที่สำคัญเครือข่ายเล็กๆ เหล่านี้มักเป็นแอพฯ ครับ
Foodspotting
ชื่อแอพฯ Foodspotting ก็บอกอย่างชัดเจนแล้วนะครับว่าแอพฯ ตัวนี้เกี่ยวข้องกับอาหารแถมมันไม่ใช่แค่แอพฯ แชร์ภาพอาหารธรรมดา แต่มันมีความสามารถที่เกี่ยวข้องกันตั้งแต่เนื้อแท้ของแอพฯ เลยแหละ
เริ่มตั้งแต่ฟังก์ชั่นพื้นๆ ที่น่าจะใช้กันหลักๆ เลยคือ การถ่ายภาพอาหารจานโปรดของเราตามร้านอาหาร แล้วแชร์ขึ้นไปบนเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่าง Facebook, Twitter หรือ Foursquare
แต่ที่สำคัญที่สุดคือ เครือข่ายของ Foodspotting เองโดยจะมีการระบุพิกัดอย่างชัดเจนว่าอาหารจานนี้ท่านได้จากที่ไหนมา ซึ่งถ้าเป็นร้านอาหารที่คนทั่วไปรู้จักอยู่แล้ว ก็จะมีอยู่ในลิสต์ให้เลือกเลย แต่ถ้าไม่มีก็เพิ่มใหม่เข้าไปได้ตามระเบียบ
นอกจากนี้ ที่พิเศษให้สมกับเป็นแอพฯ เพื่ออาหาร คือเมื่อเวลาที่เราป้อนชื่ออาหาร แอพฯ ก็จะแสดงข้อความแนะนำ และจัดกลุ่มอาหารให้ โดยเฉพาะอาหารที่มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษ แล้ว Foodspotting ก็มีความสามารถในการติดตามหรือ Follow เช่นเดียวกับเครือข่ายสังคมอื่นๆ ครับ
แต่ที่เหนือกว่าคือ นอกจากจะติดตามเป็นบุคคลแล้ว (สามารถค้นหาเพื่อนที่ใช้ Foodspotting ได้ทั้งจาก Facebook และ Twitter ของเราครับ) ยังสามารถติดตามร้านอาหารร้านโปรด หรือเมนูอาหารจานโปรด เพื่อที่จะได้เห็นว่ามีใครแนะนำเมนูใหม่จากร้านอาหารโปรดของเราหรือเปล่า เช่น เครปเค้ก มีที่ไหนที่มีเครปเค้กแบบใหม่ๆ น่ากินอีก ทั้งนี้ก็เพื่อความสะดวกเวลากลับเข้ามาค้นครับ
นอกจากเรื่องการถ่ายภาพและแชร์แล้ว Foodspotting ยังสามารถค้นหาร้านอาหารที่อยู่ในบริเวณนั้นได้อย่างรวดเร็วในแท็บ Explore โดยเจาะลึกเป็นเมนูอาหารที่น่าสนใจจากฐานข้อมูลที่แอพฯ ได้จากการแชร์ภาพถ่ายด้านบน
โดยมันจะปักหมุดลงในแผนที่บริเวณรอบๆ ที่เราอยู่ให้ทันที พร้อมให้เดินเข้าไปสำรวจอาหารที่อยู่ตรงจุดนั้นว่าเป็นอาหารที่ถูกใจเราหรือไม่ ถ้าชอบก็เขียนลงในคอมเมนต์ได้เลย แล้วถ้าเจอเมนูไหนถูกใจแต่ยังไม่มีเวลาก็เข้าไปติ้กเป็น Want ไว้ก่อนก็ได้ ไว้ไปลองแล้วค่อยถ่ายรูปมาใส่เพิ่มว่าเมนูนี้ในสายตาของเราเป็นอย่างไร นอกจากนี้มันยังมีโปรโมชั่นอาหารต่างๆ มานำเสนอเราได้ด้วย เพียงแต่ว่าไม่ค่อยมีในเมืองไทยก็เท่านั้นเอง
อีกฟังก์ชั่นที่น่าสนใจคือ Guides ครับ ที่เป็นเหมือนคำแนะนำผสมเกมที่สร้างโดยผู้ใช้ Foodspotting ที่มีประสบการณ์เพื่อแนะนำอาหารในย่านเดียวกัน หรือประเภทเดียวกันที่น่าเข้าไปลองให้ครบแล้วถ่ายรูปมาให้ครบตามรายชื่อ ก็ไม่รู้ว่าจะสนุกหรือจะอ้วนก่อนกัน ในกรุงเทพฯ ผมเห็นมี Guides อยู่หลายอันเหมือนกัน เช่น เบอร์เกอร์ที่น่ากินในกรุงเทพฯ หรืออาหารอร่อยในเยาวราช ก็ลองเข้าไปดูนะครับ
Foodspotting ก็เป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์เฉพาะกลุ่มที่น่าสนใจครับ เพราะสามารถสร้างจุดขายให้ตัวเองจนเป็นแอพฯ แรกๆ ที่จะนึกถึงเมื่อต้องการหาอาหารจานใหม่ๆ (เน้นว่าหาอาหารในระดับเป็นเมนู ซึ่งละเอียดกว่าหาร้านอาหาร) ยิ่งเมื่อเร็วๆ นี้ได้รับการอัพเดตครั้งใหญ่ใน iPhone เป็นเวอร์ชั่น 3 ก็ยิ่งทำให้ตัวแอพฯ น่าใช้ขึ้นมาก แล้วนอกจาก iPhone แล้ว แอพฯ นี้ยังสามารถใช้ได้ทั้งบน Android, Windows Phone หรือจะใช้บน PC ผ่านเว็บฯ ก็ได้ ส่วน BB กำลังจะมาเร็วๆ นี้ครับ
ใช้มาจนทะลุทั้งแอพฯ แล้วก็ขอตินิดหนึ่งครับ ไหนๆ ก็จะทำตัวเองให้เป็นแอพฯ เพื่อแชร์อาหารที่น่าสนใจแล้ว น่าจะทำระบบกล้องถ่ายรูปให้มันมีฟิลเตอร์สำหรับถ่ายภาพอาหารเสียหน่อย ก็จะดีไม่น้อย ตอนนี้ถ้าอยากได้ภาพสวยๆ ต้องถ่ายจากแอพฯ อื่นแล้วค่อยเอาเข้า Foodspotting ครับ ถ้าได้ฟังก์ชั่นนี้ก็จะทำให้คุณสมบัติมันจบในตัวมากขึ้น
จากแอพฯ ทั้งหมดเราจะเห็นแง่มุมในการสร้างเครือข่ายสังคมใหม่ๆ ที่อยู่รอดในยุค Facebook และ Twitter ใหญ่คับไทย (คับโลกคงต้องใช้หลายเครือข่าย) คือ Path เลือกที่จะเป็นเครือข่ายสำหรับเพื่อนสนิท
ชูโรงด้วยศูนย์กลางโพสต์ไปเครือข่ายอื่นและเอฟเฟ็กต์ภาพถ่ายภาพวิดีโอ Foodspotting ใช้การแนะนำเมนูอาหารที่น่าสนใจในละแวกนั้นมาชูโรง แล้วแชร์ไปเครือข่ายอื่นๆ ได้ ส่วน Socialcam เลือกตอบโจทย์ผู้ใช้ Instagram ในโลกวิดีโอ เน้นความเร็ว ความง่าย และความสวยของวิดีโอที่อัพขึ้น แล้วรวมกับความสามารถของเครือข่าย Socialcam ที่ทำให้คนตามหาวิดีโอกันได้ง่ายขึ้น แชร์ไปเครือข่ายอื่นๆ ได้หลากหลาย ยิ่งเมืองไทยดาราใช้เยอะ มันก็ยิ่งมีจุดยืนในเมืองไทยครับ ใครสนใจจะนำเครือข่ายใหม่ๆ ที่เพิ่งเกิดไปใช้ หรือสนใจสร้างเครือข่ายสังคมใหม่ๆ ในไทย ก็ลองศึกษาดูครับ
ผู้เขียน : Eka_x