ครบถ้วน! รายละเอียดและเงื่อนไข 'ประกันภัยข้าวนาปี' ประจำปีนี้
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2561 ครม.มีมติเห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติให้แก่เกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวนาปี ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (กนข.) มีมติเห็นชอบโครงการฯ ปีการผลิต 2561 ในการประชุมครั้งที่ 1/2561 เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 โดยมีหลักการและรายละเอียดของการรับประกันภัย ดังนี้
1. พื้นที่เป้าหมายเอาประกันภัย สูงสุดจำนวนไม่เกิน 30 ล้านไร่ ประกอบด้วย
1.1 พื้นที่เป้าหมายเอาประกันภัยจำนวนไม่เกิน 29 ล้านไร่ สำหรับเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทุกราย ซึ่งประกอบด้วย ลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ที่ได้รับการอุดหนุนเบี้ยประกันภัยจาก ธ.ก.ส. และลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ที่มีความประสงค์จะขอเอาประกันภัยเพิ่มเติม โดยจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเอง
1.2 พื้นที่เป้าหมายเอาประกันภัยจำนวนไม่เกิน 1 ล้านไร่ สำหรับเกษตรกรทั่วไปที่เพาะปลูกข้าวนาปีและไม่ใช่ลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส.
2. เงื่อนไขในการรับประกันภัย
2.1 ผู้เอาประกันภัย คือ เกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวนาปีที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร (ทบก.) กับกรมส่งเสริมการเกษตร ในปีการผลิต 2561/62
2.2 รูปแบบการเอาประกันภัย แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
(1) กลุ่มเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 ของ ธ.ก.ส. ดำเนินการในรูปแบบการประกันภัยกลุ่ม โดย ธ.ก.ส. เป็นผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัย
(2) กลุ่มเกษตรกรทั่วไปที่เพาะปลูกข้าวนาปีและไม่ใช่ลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ดำเนินการในรูปแบบการประกันภัยรายบุคคล
2.3 อัตราเบี้ยประกันภัย อัตราเบี้ยประกันภัย 90 บาทต่อไร่ (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์) หรือรวมแล้วอัตราเบี้ยประกันภัยจะเท่ากับ 97.37 บาทต่อไร่ (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์) ซึ่งเป็นอัตราเดียวกันทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
2.4 วงเงินความคุ้มครอง เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ปีการผลิต 2561 จะได้รับวงเงินความคุ้มครองสูงสุด 1,260 บาทต่อไร่ สำหรับภัยธรรมชาติทั้งหมด 6 ประเภท ได้แก่ น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาว น้ำค้างแข็ง หรือลูกเห็บ และไฟไหม้ และวงเงินความคุ้มครองสูงสุด 630 บาทต่อไร่ สำหรับภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด
3. การอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยของรัฐบาล สำหรับโครงการฯ ปีการผลิต 2561 รัฐบาลยังคงอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยทุกรายในอัตรา 61.37 บาทต่อไร่ (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์) และ ธ.ก.ส. จะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยในส่วนที่เหลืออีก 36 บาทต่อไร่ สำหรับเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 ของ ธ.ก.ส. เฉพาะพื้นที่เพาะปลูกส่วนที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อ
ดังนั้นเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อของ ธ.ก.ส. จะไม่เสียเงินค่าเบี้ยประกันภัยเลย แต่ถ้าไม่ได้เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. จะจ่ายเบี้ยประกันภัยเองเพียง 36 บาทต่อไร่ โดยมีระยะเวลาโครงการเริ่มตั้งแต่ฤดูการเพาะปลูก ไม่เกินวันที่ 30 มิ.ย. 2561 ยกเว้นภาคใต้ ไม่เกินวันที่ 15 ธันวาคม 2561
4. งบประมาณ การดำเนินโครงการฯ ปีการผลิต 2561 กระทรวงการคลังประเมินในเบื้องต้นว่า จะมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ ตามเป้าหมาย ดังนั้น จึงอนุมัติวงเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยสำหรับพื้นที่เป้าหมายเอาประกันภัยที่จำนวนสูงสุด 30 ล้านไร่ คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,841,100,000 บาท (1,841.1 ล้านบาท)