อนุมัติแล้ว! บ้านแนวรถไฟฟ้าของรัฐราคา 8.6 แสน - 3.5 ล้านบาท
คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบกว่า 900 ล้านบาท เดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้า ลำลูกกา คลองสอง พร้อมกับเคาะมาตรการเพื่อสนับสนุนการควบรวมธนาคารพาณิชย์ไทย หวังช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันระดับอาเซียน
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบอนุมัติหลักการจัดทำโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (ลำลูกกา คลอง 2) สายสีเขียวเข้ม หมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต สำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง ในระดับราคาที่สามารถรับภาระได้ รวมจำนวน 820 หน่วย วงเงินลงทุนรวม 903.376 ล้านบาท
ประกอบด้วยเงินกู้ในประเทศ 814.564 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังเป็นผู้จัดหาและเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ และเงินรายได้ 88.812 ล้านบาท เพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานในชุมชนที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้มีรายได้ปานกลาง ที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยใกล้เส้นทางรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ในระดับราคาที่กลุ่มเป้าหมายรับภาระได้ พร้อมทั้งเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตด้านการอยู่อาศัย และเสริมสร้างความเสมอภาคและโอกาสในการได้รับบริการโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐอย่างเท่าเทียม
โครงการดังกล่าวเป็นอาคารชุดพักอาศัยรวม 4 ชั้น ทาวเฮ้าส์ 3 ชั้น และบ้านแฝดเชิงอิสระ ใช้ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ ระหว่าง เดือนธันวาคม 2561 ถึงเดือนธันวาคม 2564
- ระยะที่ 1 ส่วนที่ 1 อาคารชุด 4 ชั้น ขนาด 27 ตร.ม. จำนวน 280 หน่วย ดำเนินการก่อสร้างในช่วง ธ.ค. 61 – พ.ค. 63
- ระยะที่ 1 ส่วนที่ 2 อาคารชุด 4 ชั้น ขนาด 27 ตร.ม. จำนวน 336 หน่วย ดำเนินการก่อสร้างในช่วง ก.ย. 62 – ก.พ. 64
- ระยะที่ 2 จะดำเนินการก่อสร้างในช่วง ก.ค. 63 – ธ.ค. 64 ได้แก่ ทาวน์เฮาส์ 3 ชั้น ขนาด 20 ตร.ว. จำนวน 22 หน่วย ทาวน์เฮาส์ 3 ชั้น ขนาด 28 ตร.ว. จำนวน 12 หน่วย และบ้านแฝด 2 ชั้น ขนาด 35 ตร.ว. จำนวน 170 หน่วย
โครงการนี้จะช่วยเพิ่มความสะดวกให้แก่ประชาชนในการเดินทางไปทำงานในเมือง เพราะจะสามารถใช้บริการรถไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนี้ได้ และยังช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง ให้มีที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัยและมีสิ่งแวดล้อมที่ดีเป็นของตนเอง โดยมีราคาตั้งแต่ 860,000 – 3,500,000 บาท
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ การเคหะแห่งชาติ สายด่วน 1615
นอกจากนี้ นายณัฐพร ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการ ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ…. หรือมาตรการเพื่อสนับสนุนการควบรวมธนาคารพาณิชย์ไทย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยการควบรวมธนาคารพาณิชย์ไทยจะช่วยให้สินทรัพย์หลังการควบรวมมีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะทำให้ธนาคารมีศักยภาพในการแข่งขันกับธนาคารในภูมิภาคอาเซียน สอดคล้องกับแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 3 (ปี 2559 – 2563) ของธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเพิ่มศักยภาพของระบบการเงินไทยในการสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนและการเชื่อมโยงของประเทศในภูมิภาค
ทั้งนี้ จะมีการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ รวมถึงค่าธรรมเนียมให้แก่ผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ หรือธนาคารพาณิชย์ที่ควบรวมกัน หรือโอนกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนให้แก่กัน เพื่อช่วยธนาคารพาณิชย์ที่จะควบรวมกิจการด้วย โดยมาตรการนี้คาดว่าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ภาษีสรรพากรประมาณ 600 – 1,400 ล้านบาท แต่จะชดเชยมาด้วยการขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากการลงทุนของภาคเอกชนเพิ่มเติมอีก อย่างน้อย 3,000 - 7,000 ล้านบาท และรายที่ได้ควบรวมกิจการระหว่างกัน