"ตระกูลเจียรวนนท์" ครองแชมป์อภิมหาเศรษฐีของไทยประจำปี 2561
ความมั่งคั่งของ 50 อภิมหาเศรษฐีไทยทะยานต่อเนื่อง / 4 อันดับแรกมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นสูงสุด
กลุ่มบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดของไทยมีทรัพย์สินรวมกันทะยานขึ้นเป็นกว่า 1.62 แสนล้านดอลลาร์ (5.06 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นหนึ่งในสามจากปีที่แล้ว โดยผู้ที่ติดทำเนียบ 50 บุคคลร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย มีถึงสองในสามที่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น เฉพาะ 4 อันดับแรกมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นรวมกันเกือบ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ (7.81 แสนล้านบาท) ทั้งนี้ สามารถติดตามรายชื่อในทำเนียบทั้งหมดได้ที่ www.forbes.com/thailand และ www.forbesthailand.com รวมทั้งนิตยสาร Forbes Asia และ Forbes Thailand ฉบับเดือนพฤษภาคม 2561
หลังผ่านพ้นช่วงเวลาซบเซาสั้น ๆ เศรษฐกิจของประเทศไทยเริ่มกลับมากระเตื้องอีกครั้ง ธนาคารโลกคาดการณ์เป็นครั้งแรกนับจากปี 2555 ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวกว่าร้อยละ 4 ในปี 2561 หลังการส่งออกเพิ่มขึ้นผนวกกับความต้องการในประเทศฟื้นตัว แม้เศรษฐกิจจะโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ทรัพย์สินของบรรดาบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากตลาดหุ้นขาขึ้นและเงินบาทที่แข็งค่า
4 อันดับแรกในทำเนียบมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นสูงสุด โดยพี่น้องตระกูลเจียรวนนท์แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ยังครองอันดับ 1 อย่างต่อเนื่องด้วยทรัพย์สินมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 30,000 ล้านดอลลาร์ (9.37 แสนล้านบาท) ด้วยแรงหนุนจากราคาหุ้นของบริษัทสำคัญ ๆ ที่ทะยานขึ้น อาทิ บมจ.ซีพี ออลล์ ซึ่งเป็นบริษัทบริหารร้านค้าสะดวกซื้อ 7-Eleven ที่ได้อานิสงส์จากบรรยากาศการบริโภคที่สดใส และบริษัทประกันภัย Ping An ที่ได้อานิสงส์จากการลงทุนในธุรกิจฟินเทค
อันดับที่ 2 ประจำทำเนียบเป็นของตระกูลจิราธิวัฒน์แห่งกลุ่มเซ็นทรัล มาพร้อมทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นแตะ 2.12 หมื่นล้านดอลลาร์ (6.62 แสนล้านบาท) จาก 1.53 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปีที่ผ่านมา
ขณะที่ เฉลิม อยู่วิทยา แห่งกระทิงแดงมาในอันดับที่ 3 โดยมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 8.5 พันล้านดอลลาร์ เป็น 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์ (6.56 แสนล้านบาท) ในปีนี้
ส่วน เจริญ สิริวัฒนภักดี (อันดับ 4) แห่งกลุ่มไทยเบฟเวอเรจ มีทรัพย์สินเพิ่มจากปีที่ผ่านมา 2 พันล้านดอลลาร์ รวมเป็นมูลค่าทรัพย์สิน 1.74 หมื่นล้านดอลลาร์ (5.43 แสนล้านบาท) Aloke Lohia (อันดับ 9) เป็นมหาเศรษฐีอีกหนึ่งท่านที่มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมาก ทรัพย์สินของเขาทะยานแตะ 3.3 พันล้านดอลลาร์ (1.03 แสนล้านบาท) พุ่งขึ้นถึงร้อยละ 89 โดยการบรรลุข้อตกลงที่สำคัญนับตั้งแต่ปี 2557 ของเขาทำให้ บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส เข้าเป็นเจ้าของกิจการ 16 แห่งทั่วโลก ซึ่งรวมถึงกิจการในยุโรปและอเมริกาเหนือ ในปี 2560 บริษัทรายงานตัวเลขรายได้ 8.4 พันล้านดอลลาร์ เติบโตอย่างก้าวกระโดดถึงร้อยละ 17
สิ่งสะท้อนความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นคือ ปีนี้มีถึง 32 อันดับที่มีทรัพย์สินระดับพันล้านดอลลาร์ขึ้นไป เพิ่มจากปี 2560 4 อันดับ (5 ท่าน) และเป็นมหาเศรษฐีใหม่ที่เพิ่งเข้าอันดับเป็นครั้งแรก 2 ท่าน หลังจากพาบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ได้แก่ สารัชถ์ รัตนาวะดี (อันดับ 7) ซีอีโอแห่ง บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ ซึ่งเข้าตลาดเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทำให้เขากลายเป็นมหาเศรษฐีหน้าใหม่ที่ร่ำรวยที่สุดด้วยทรัพย์สินมูลค่า 3.4 พันล้านดอลลาร์ (1.06 แสนล้านบาท) และอีกหนึ่งคือประจักษ์ ตั้งคารวคุณ (อันดับ 14) เข้าทำเนียบมาเป็นปีแรกด้วยทรัพย์สินสุทธิ 2.1 พันล้านดอลลาร์ (6.56 หมื่นล้านบาท)
อีก 2 มหาเศรษฐีหน้าใหม่ประจำทำเนียบมาจากธุรกิจความสวยความงามที่กำลังเฟื่องฟู ได้แก่ นพ.สุวินและธัญญาภรณ์ ไกรภูเบศ (อันดับ 40) แห่งบิวตี้ คอมมูนิตี้ โดยทั้งคู่มีทรัพย์สินรวมกัน 715 ล้านดอลลาร์ (2.23 หมื่นล้านบาท) และสราวุฒิ พรพัฒนารักษ์ (อันดับ 45) กับมูลค่าทรัพย์สิน 675 ล้านดอลลาร์ (2.11 หมื่นล้านบาท) ซึ่ง "ดู เดย์ ดรีม" บริษัทของเขาทำรายได้อย่างงามจากกระแสคลั่งไคล้ผิวขาว
ในบรรดามหาเศรษฐินี 9 คนที่เข้าสู่ทำเนียบในปีนี้ สองคนเป็นผู้ที่กลับเข้าสู่อันดับอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งรวมถึง สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ (อันดับ 28) ประธานกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ด้วยทรัพย์สิน 1.3 พันล้านดอลลาร์ (4.06 หมื่นล้านบาท) ด้าน Nishita Shah Federbush (อันดับ 32, 1.06 พันล้านดอลลาร์) ทายาทธุรกิจขนส่งทางทะเลผู้กุมบังเหียนจีพี กรุ๊ป เป็นหนึ่งในมหาเศรษฐินีที่โดดเด่นด้วยมูลค่าทรัพย์สินของตระกูลมีมูลค่าเกิน 1 พันล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรก โดยส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นจากการเข้าถือหุ้นร้อยละ 51 ใน บมจ.เมก้า ไลฟ์ไซแอ็นซ์ บริษัทยาและผลิตภัณฑ์บำรุงสุขภาพที่ Kirit พ่อของเธอเป็นผู้ก่อตั้งในปี 2525
จากการกำหนดทรัพย์สินสุทธิขั้นต่ำของผู้ที่ได้รับการจัดอันดับที่ 600 ล้านดอลลาร์ ทำให้มีมหาเศรษฐี 7 คนหลุดจากทำเนียบ 50 อภิมหาเศรษฐีไทยไปในปีนี้ รวมทั้งภวัฒน์ วิทูรปกรณ์ บมจ.อีสเทิร์นโพลีเมอร์ของเขาทำรายได้และผลกำไรลดลงจากอุปสงค์ที่อ่อนแรงและราคาวัตถุดิบที่ถีบตัวสูงขึ้น
รายชื่อตระกูลและอภิมหาเศรษฐี 10 อันดับแรกของไทย
- พี่น้องเจียรวนนท์ มูลค่าทรัพย์สิน 3 หมื่นล้านดอลลาร์
- ตระกูลจิราธิวัฒน์ มูลค่าทรัพย์สิน 2.12 หมื่นล้านดอลลาร์
- เฉลิม อยู่วิทยา มูลค่าทรัพย์สิน 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์
- เจริญ สิริวัฒนภักดี มูลค่าทรัพย์สิน 1.74 หมื่นล้านดอลลาร์
- วิชัย ศรีวัฒนประภา มูลค่าทรัพย์สิน 5.2 พันล้านดอลลาร์
- กฤตย์ รัตนรักษ์ มูลค่าทรัพย์สิน 3.7 พันล้านดอลลาร์
- สารัชถ์ รัตนาวะดี มูลค่าทรัพย์สิน 3.4 พันล้านดอลลาร์
- นพ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ มูลค่าทรัพย์สิน 3.35 พันล้านดอลลาร์
- Aloke Lohia มูลค่าทรัพย์สิน 3.3 พันล้านดอลลาร์
- วานิช ไชยวรรณ มูลค่าทรัพย์สิน 3 พันล้านดอลลาร์
การจัดอันดับในทำเนียบฯ ใช้ข้อมูลทางการเงินและการถือครองหุ้นที่ได้รับจากครอบครัวและผู้ที่ได้รับการจัดอันดับ ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ นักวิเคราะห์ และหน่วยงานกำกับดูแล รวมถึงทรัพย์สินของครอบครัวและทรัพย์สินที่ถือครองโดยสมาชิกครอบครัวในหลายรุ่น ทั้งนี้ มูลค่าทรัพย์สินในบริษัทมหาชนคำนวณจากราคาหุ้น และอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 20 เมษายน 2561 ส่วนทรัพย์สินในบริษัทที่ถือครองส่วนตัวประเมินค่าโดยเปรียบเทียบกับบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเดียวกันที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์